โรคต้อหิน ภัยเงียบที่คุกคามการมองเห็น
ต้อหิน ภัยเงียบที่คุกคามการมองเห็น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่สังเกตเห็นความผิดปกติจนโรคได้ลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรคต้อหินจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการตาบอดถาวร โดยการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้กระจ่าง แล้วคุณจะรู้ว่าต้อหินไม่จำเป็นที่จะต้องจบที่ “ตาบอด” เสมอไป
โรคต้อหิน
โรคต้อหิน คือกลุ่มโรคที่เกิดจากสาเหตุอะไรก็ตามที่ทำให้ขั้วประสาทตาและลานสายตาถูกทำลาย ซึ่งขั้วประสาทตาและลานสายตาจะต้องถูกทำลายโดยมีลักษณะเป็นต้อหินด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเวลาที่การมองเห็นสูญเสียจากภาวะต้อหิน ก็จะเป็นการสูญเสียที่ลานสายตาโดยที่การมองภาพตรงกลางก็ยังมองเห็นได้ดีอยู่
ที่มา : National Vision Optometrists
สาเหตุของการเกิดต้อหิน
ต้อหินเกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์และเส้นใยประสาทในจอประสาทตา เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาและลานสายตา ทำให้มองเห็นได้ยาก เริ่มจากสูญเสียลานสายตารอบนอกและค่อย ๆ คืบคลานเข้ามายังจุดตรงกลาง จนทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด
อาการของโรคต้อหิน
อาการของโรคต้อหินจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
-
ต้อหินแบบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นต้อหินแบบเรื้อรัง อาการของกลุ่มที่เป็นเรื้อรังก็คือจะมีอาการตามัว โดยที่ลักษณะอาการตามัวจะเป็นแบบตามัวด้านข้างไม่ได้ตามัวตรงกลาง หรือเรียกว่า การเสียการมองเห็นแบบลานสายตาเสียไป
-
ต้อหินแบบเฉียบพลัน
อาการต้อหินแบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่มีอาการปวดขึ้นอย่างรุนแรงและกะทันหัน มีตามัวเฉียบพลัน ตาแดง น้ำตาไหล แพ้แสง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน
- อายุ โรคต้อหินจะพบได้บ่อยมากขึ้นเมื่อคุณอายุมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขั้นไป
- กรรมพันธุ์ จะมีโอกาสเสี่ยงหากมีประวัติครอบครัวที่เป็นต้อหิน โดยเฉพาะญาติสายตรง
- ความดันตาสูง หากใครไปตรวจวัดความดันตาและปรากฎว่ามีความดันตาสูง ก็อาจเสี่ยงเป็นต้อหินได้
- ประสบอุบัติเหตุทางตา หรือว่าการอักเสบของลูกตา
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ สามารถทำให้เกิดโรคต้อหินได้เช่นเดียวกัน
ประเภทของโรคต้อหิน
สำหรับชนิดของโรคต้อหินแบ่งได้หลายแบบด้วยกัน แต่ว่าในบทความนี้จะขอแบ่งง่ายๆ ให้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน
- ต้อหินมุมเปิด เกิดจากเนื้อเยื่อกรองน้ำเลี้ยงลูกตามีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งเป็นต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด
- ต้อหินมุมปิด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างตา ม่านตาอยู่ชิดกับเนื้อเยื่อกรองน้ำลูกตา ทำให้ไปปิดกั้นการระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา ความผิดปกตินี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ช่องว่างด้านหน้าของลูกตาแคบ จะพบบ่อยลองลงมาจากต้อหินมุมเปิด
- ต้อหินชนิดอื่น ๆ เช่น ต้อหินที่เกิดจากอุบัติเหตุ เกิดตั้งแต่กำเนิด เกิดจากการใช้ยา เกิดจากการอักเสบของลูกตา และต้อหินที่เกิดจากโรคเบาหวานขึ้นตา เป็นระยะสุดท้ายของโรคเบาหวานขึ้นตา ซึ่งต้อหินชนิดนี้ จะมีลักษณะที่รุนแรงกว่าต้อหินมุมเปิด และมุมปิดนั้นเอง
การรักษาโรคต้อหิน
สำหรับภาพรวมของการรักษาต้อหิน ไม่ว่าจะเป็น มุมเปิด มุมปิด หรือว่าแบบชนิดอื่นๆ ก็จะมีด้วยกันใหญ่ ๆ 3 วิธี
- การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยยาสามารถรักษาได้ทั้งหมด 3 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมุมเปิด มุมปิด หรือเป็นต้อหินชนิดอื่นๆ โดยยาก็จะเป็นการหยอดยา หรือว่าการกินยา จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะลดความดันตา ไม่ให้โรคต้อหินทำให้ตาบอดไป
- การรักษาด้วยเลเซอร์ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นต้อหินชนิดไหน ก็จะมีการรักษาด้วยเลเซอร์ที่แตกต่างกันออกไป
- การรักษาด้วยการผ่าตัด ต้องแยกประเภทของต้อหินก่อนว่าเป็นต้อหินแบบไหน การรักษาด้วยการผ่าตัดก็จะแตกต่างกันเช่นเดียวกัน
การป้องกันสำหรับโรคต้อหิน
- ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องของความเสี่ยงที่จะเกิดต้อหินก่อน หากเรารู้ว่ายาตัวนี้มีความเสี่ยง เวลาหยอดแล้วอาจจะทำให้เกิดต้อหิน เช่น ยากลุ่มยาสเตียรอยด์ แพทย์ก็จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงยาเหล่านี้
- อุบัติเหตุบางอย่าง อุบัติเหตุก็อาจจะทำให้เกิดต้อหินได้ เช่น หากมีความจำเป็นต้องขี่รถจักรยานยนต์ เราก็ควรที่จะป้องกัน ระมัดระวัง และสวมอุปกรณ์ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือลดความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุ
- การตรวจเช็กตา ผู้ที่มี่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเป็นต้อหิน ควรมาตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการวินิจฉัย และตรวจขั้วประสาทตา ลานสายตาว่ามีความเสี่ยงสูญเสียหรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกตรวจสุขภาพ
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 07.00 - 16.00 น.
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4501