นกเขาไม่ขัน อายุน้อยก็เป็นได้
“นกเขาไม่ขัน” ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และสุขภาพทางเพศที่เสื่อมลง อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาระยะยาว รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
ภาวะ “นกเขาไม่ขัน” หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Erectile Dysfunction” (ED) ในทางการแพทย์คือ ภาวะที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถคงการแข็งตัวไว้ได้นานขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์จนเสร็จกิจได้ ภาวะนี้แม้จะไม่อันตรายอะไรมาก แต่ก็มักเกิดปัญหาทางสุขภาพจิตต่างๆ เช่น ความสุขทางเพศ สัมพันธภาพในคู่สมรส ไปจนถึงปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว
นพ.จักรพงศ์ จิรสิริธรรม ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ประจำคลินิกสุขภาพเพศชาย (Men’ Health Clinic) โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINCIPAL HEALTHCARE) กล่าวถึงอาการ นกเขาไม่ขัน (Erectile Dysfunction) เป็นเพียงหนึ่งในภาวะการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นอกเหนือจากนี้ยังมีอาการหลั่งเร็ว (Premature ejaculation) ไม่เสร็จกิจขณะมีเพศสัมพันธ์ (Delayed or inhibited ejaculation) ไม่มีอารมณ์ร่วมทางเพศหรือมีน้อยลง (Low or no libido) ฯลฯ โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกันระหว่างโรคทางกาย กับปัญหาทางด้านจิตใจ โดยสาเหตุทางกายที่พบได้ เช่น จากโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ปัญหาจากตัวหลอดเลือดเสื่อมสภาพ หรือไปเลี้ยงไม่เพียงพอ จากระบบประสาท จากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง หรือมีความผิดปกติทางระบบฮอร์โมน โดยโรคทางกายที่เกิดนั้น อาจเกิดจากผลกระทบหรือเกิดร่วมกันกับภาวะทางจิตใจได้เช่นกัน ดังนั้น การได้รับการปรึกษาและการรักษาที่ดีในแบบองค์รวมนั้น สามารถนำไปสู่การแก้ไขภาวะหรือตัวโรคได้อย่างครอบคลุม ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการป้องกันและส่งเสริมในทุกๆ ด้าน และเพื่อสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน ซึ่งนอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว อาจจะมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงก่อนเริ่มทำการรักษา
“อายุ” ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่ออายุเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และจากสถิติภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีโอกาสพบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 40 ปี ประมาณ 1-10% และพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ประมาณ 15-40% ตามช่วงอายุ
นอกเหนือจากอายุแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ก็สามารถเป็นความเสี่ยงต่อภาวะ นกเขาไม่ขัน หย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ผู้ที่เคยมีประวัติการผ่าตัด ผู้มีภาวะบกพร่องฮอร์โมนเพศชาย ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ตลอดจนมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งปัจจัยทางสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น
นพ.จักรพงศ์ ยังกล่าวถึงแนวทางป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศว่า ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ส่วนแนวทางการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งออกเป็น แบบที่ไม่ต้องใช้ยา และแบบที่ต้องใช้ยา หรืออุปกรณ์ช่วย อย่างเช่น ใช้ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Phosphodiesterase Type 5 (PDE5i) ในการรักษาผู้ที่ไม่มีข้อห้ามใช้ หรือยารักษาทดแทนฮอร์โมนเพศชายในผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ หัตถการและการผ่าตัดในการรักษาต่างๆ เช่น การฉีดยากระตุ้นที่องคชาต การใช้คลื่นเสียงกระตุ้นการฟื้นฟูเนื้อเยื่อและหลอดเลือดของอวัยวะเพศ (Li ESWT) และการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม เป็นต้น
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกสุขภาพเพศชาย
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์-อังคาร-พุธ 17.00-20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4110