โรคต้อหิน
ต้อหิน เป็นภัยเงียบที่คุกคามการมองเห็น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่สังเกตเห็นความผิดปกติจนโรคได้ลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย โรคต้อหินจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการตาบอดถาวร โดยการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันให้กระจ่าง แล้วคุณจะรู้ว่าต้อหินไม่จำเป็นที่จะต้องจบที่ “ตาบอด” เสมอไป
โรคต้อหินนั้น ไม่ได้มีรูปร่างให้เห็น หรือมีหินเกิดขึ้นในดวงตา สาเหตุการเกิดมาจากการลดลงของเซลล์ และเส้นใยประสาทในจอประสาทตา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาที่เป็นที่รวมของเส้นใยประสาทตานำกระแสประสาทการมองเห็นไปแปลผลที่สมอง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลานสายตา หรือความกว้างของการมองเห็นตามมา โดยระยะแรกจะมีการสูญเสียลานสายตารอบนอก แต่การมองเห็นตรงกลางจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยจึงสังเกตเห็นได้ยากทำให้ลานสายตาจะค่อย ๆ แคบเข้าเรื่อย ๆ ตามการดำเนินของโรคที่รุนแรงมากขึ้น จนเริ่มมีตามัวลง และตาบอดได้ในที่สุด โดยอาจพบร่วมกับภาวะความดันลูกตาสูงหรือไม่ก็ได้
อาการของโรคต้อหิน
ในทางปฏิบัติแล้วผู้ป่วยต้อหิน ระยะต้นส่วนใหญ่มักไม่สามารถสังเกตได้เอง หรือมีอาการแสดงแจ้งให้รู้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของต้อหินแบบมุมเปิด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมองเห็นด้าน บน – ล่าง ซ้าย – ขวา ค่อย ๆ แคบลงอย่างช้า ๆ ระหว่างนั้นก็ยังคงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ จนกระทั่งการสูญเสียลานสายตาเข้ามาถึงบริเวณตรงกลาง ทำให้ตามัว และเดินชนสิ่งของรอบข้าง จึงมาพบแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวก็เป็นระยะท้าย ๆ ของโรคแล้ว ทำให้ผู้ป่วยอาจต้องเสี่ยงต่อตาบอดในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหิน
- อายุ คนที่มีอายุมากจะมีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าคนที่มีอายุน้อย ต้อหิน บางชนิดเกิดในเด็กแรกเกิด หรือกลุ่มเด็กเล็กได้เช่นกัน แต่พบไม่บ่อยเท่าผู้สูงอายุ ต้อหินชนิดมุมเปิดพบมากในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
- ความดันในลูกตา คนที่มีความดันในลูกตาสูงจะมีโอกาสเกิดโรคต้อหินได้มาก
- ประวัติครอบครัวหากมีสมาชิกภายในครอบครัว หรือบรรพบุรุษเป็นต้อหิน ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้นและควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆ
- สายตาสั้นมากหรือยาวมาก พบว่าคนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิดมากกว่าคนปกติ และในคนที่สายตายาวมาก ๆ โดยมีขนาดของลูกตาเล็กกว่าปกติ ก็จะมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิด
- โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และความผิดปกติทางเลือดและเส้นเลือด ปัจจุบันมีหลักฐานชี้บ่งว่าความเข้มข้นของเลือดที่ผิดปกติอาจสัมพันธ์กับโรคต้อหิน โรคของเส้นเลือดที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคลูปัส ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงขั้วประสาทตา และทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- การได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตามาก่อน และโรคตาบางชนิด
การรักษาผู้ป่วยโรคต้อหิน
เนื่องจากโรคต้อหิน เส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคอง เพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น และเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิด และระยะของโรค
- การรักษาด้วยยา มีเป้าหมายในการรักษา เพื่อลดความดันตาให้อยู่ในระดับที่ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้น ในปัจจุบันยารักษาต้อหินมีหลายกลุ่ม ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา หรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา
- การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหิน และระยะของโรค
- Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก มักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ
- Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด
- Argon laser peripheral iridoplasty (ALPI) ใช้ร่วมกับ LPI หรือในกรณีไม่สามารถใช้ LPI รักษาได้
- Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล
- การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยา หรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้
- Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายสำหรับน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาใหม่เพื่อลดความดันตา
- Aqueous shunt surgery กรณีที่ผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล อาจทำการผ่าตัดด้วยการใส่ท่อระบายเพื่อลดความดันตา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกตา หู คอ จมูก
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4011