Header

รู้หรือไม่ ? คนที่เคยเป็น อีสุกอีใสมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็น โรคงูสวัด ได้ทุกคน

นพ.อดิศร มนูสาร โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.อดิศร มนูสาร

เป็น อีสุกอีใสมาก่อน | มีโอกาสเสี่ยงเป็น โรคงูสวัด | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

โรคงูสวัดคืออะไร ?

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster (VZV) ที่ทำให้เกิดผื่นพุพอง เป็นตุ่มน้ำมีอาการคัน สามารถกระจายไปยังผิวหนังทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา


อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร ?

 อาการของโรคงูสวัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อไวรัสจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • ระยะที่ 2 เมื่อมีอาการแสบร้อนโดยหาสาเหตุไม่ได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มปรากฏผื่นแดงขึ้น และกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น ตามความยาวของแขน รอบเอว รอบหลัง ใบหน้า ต้นขา เป็นต้น ต่อมาตุ่มน้ำใสนั้นจะแตกออกเป็นแผล จากนั้นจะตกสะเก็ด แล้วจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ระยะที่ 3 แม้แผลจะหายดีแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนอยู่ตามรอยแนวของแผลที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ซึ่งจะปวดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนหลังจากที่ตุ่มใสเริ่มเกิดขึ้น


งูสวัด อีสุกอีใส ต่างกันอย่างไร ?

แม้โรคงูสวัดกับอีสุกอีใสจะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน แต่อาการที่แสดงออกมานั้นจะแตกต่างกัน คือ โรคงูสวัดจะเกิดตุ่มนูนที่เรียงเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท และจะไม่กระจายทั่วตัวเหมือนตุ่มของอีสุกอีใส


ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัด ?

  • เคยเป็นโรคไข้สุกใสมาก่อน
  • อายุมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • มีความเครียดทางอารมณ์
  • คนที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อนของงูสวัดมีอะไรบ้าง ?

  • งูสวัดในดวงตา อาจทำให้เป็นแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ หรือถึงขั้นตาบอด
  • งูสวัดขึ้นหน้าหรือใบหู ทำให้ใบหน้าเกิดอัมพาตครึ่งซีก คือ มีอาการหลับตาไม่สนิท ไม่สามารถเลิกคิ้วได้ และ มุมปากตก
  • ปวดตามแนวเส้นประสาท นานต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี
  • ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ผิวหนัง
  • เชื้อไวรัสเข้าไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อ อ่อนแรง เป็นอัมพาต
  • เชื้อไวรัสขึ้นสมอง และเยื้อหุ้มสมอง ทำให้สมองบวม ชัก และมีโอกาสเสียชีวิต


ถ้างูสวัดพันรอบตัว จะทำให้เสียชีวิตจริงหรือไม่ ?

โดยปกติแล้วงูสวัดจะเกิดขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย ยกเว้นกลุ่มคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่อาจเกิดได้มากกว่าหนึ่งจุดของแนวเส้นประสาท มีอาการรุนแรง และเป็นอยู่นานกว่าคนไข้งูสวัดทั่วไป  และเสี่ยงต่อชีวิตโดยเฉพาะมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้


รักษาโรคงูสวัดอย่างไร ?

แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2 – 3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา


ป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างไร ?

ในผู้สูงอายุ โรคจะแพร่กระจายและมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ดังนั้น วิธีป้องกันควรเริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ซึ่งจะสามารถป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัด และป้องกันภาวะปวดเรื้อรัง หรือลดการเจ็บปวดของโรคเมื่อผื่นโรคงูสวัดหายไป

โรคงูสวัดเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสพบว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่าในการเกิดโรคงูสวัดถึงแม้ว่าการติดเชื้อที่ผิวหนังจะหายดีแล้ว ไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้อีกและทำให้เกิดโรคงูสวัด ซึ่งวัคซีนป้องกันงูสวัสจะช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำและลดความรุนแรงของโรคได้



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

แผนกอายุรกรรม

สถานที่

อาคาร A ชั้น G

เวลาทำการ

จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 21.00

เบอร์ติดต่อ

02 080 5999 ต่อ 4011

แพทย์ประจำศูนย์

แผนกอายุรกรรม

นพ.อดิศร มนูสาร

อายุรแพทย์

แผนกอายุรกรรม

นพ.ธราวุฒิ เมฆธารา

อายุรศาสตร์ทั่วไป

แผนกอายุรกรรม

พญ.ธัญวลัย เลิศวนิชกิจกุล

อายุรศาสตร์โรคไต

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์