สธ. แนะ รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 3 เข็ม และฉีดเสริมภูมิทุก 4 เดือน ลดโอกาสติดเชื้อ
15 พฤศจิกายน 2565
กระทรวงสาธารณสุข เผย อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นพื้นฐานจำนวน 3 เข็ม หลังจากนี้สามารถฉีดได้ทุก 4 เดือน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 3 เข็ม และเสริมภูมิทุก 4 เดือน
วันนี้ (15 มิ.ย. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด 19 เพิ่มเติมว่า ประชาชนทุกคนควรฉีดวัคซีนรวมเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็มเป็นพื้นฐาน
และเนื่องจากวัคซีนทุกสูตรจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลงในช่วง 3 – 4 เดือน ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงลดลงไม่มาก จึงแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นหลังเข็ม 3 ทุก 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงบุคลากรสาธารณสุข เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
ส่วนประเด็นที่ว่า จำเป็นต้องรับวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนประจำปีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถกำหนดได้ แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่
การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 – 17 ปี และ 5 – 11 ปี
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเด็กอายุ 12 – 17 ปี มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว แต่ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 5 – 11 ปี เพิ่งได้รับการฉีดเพียง 2 เข็ม จึงต้องรออีก 4 เดือน เพื่อพิจารณาข้อมูล
จากการศึกษาของ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ผลตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ “ซิโนแวค-ไฟเซอร์” ในเด็กเล็กอายุ 5 – 11 ปี สามารถสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม โดยมีข้อดีคือ มีระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ทำให้ฉีดได้เร็วกว่าไฟเซอร์ที่ต้องห่างกัน 8 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในเด็กอายุ 6 – 11 ปี แบบครึ่งโดส 0.25 มิลลิลิตร (50 ไมโครกรัม) ห่างกัน 4 – 12 สัปดาห์ด้วย
สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนอื่นได้
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนตัวอื่นในวันเดียวกันได้ หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ ยกเว้นวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์และวัคซีนเชื้อเป็นตัวอื่น (เช่น วัคซีน MMR, LAJE, Varicella, Hepatitis A และ Herpes Zoster) หากไม่สามารถฉีดพร้อมกันในวันเดียวกันได้ ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 28 วัน
อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565)