ไขข้อสงสัย: โรคใหลตายคืออะไร?
15 พฤศจิกายน 2565
ในอดีต หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ‘โรคใหลตาย’ อาจเป็นนิยามที่ถูกเอามาใช้ในการอธิบายการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น เข้านอนแล้วเสียชีวิตขณะหลับ
หลายครั้ง การเสียชีวิตแบบนี้ ก็ถูกนำไปโยงกับความเชื่อต่าง ๆ มากมาย วันนี้ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซ์ ได้นำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคใหลตาย ซึ่งเป็นคำอธิบายในมุมมองวิทยาศาสตร์ มาแบ่งปันให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน
โรคใหลตายคืออะไร?
โรคใหลตาย (Brugada Syndrome) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้การนำเกลือแร่โซเดียมเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตกระทันหันได้
อาจฟังดูแล้วเป็นการเสียชีวิตที่ไม่อาจทราบล่วงหน้า หรือป้องกันอะไรได้เลย ทว่า โรคใหลตาย สามารถตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ได้ โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ ECG) และเมื่อตรวจพบ เราจึงสามารถเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และทำการรักษาโรคได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคคืออะไร?
จากคำอธิบายของตัวโรค เราอาจตกใจกันไปว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมโรคใหลตาย มีโอกาสเกิดอาการมากขึ้น ได้แก่:
-
การเป็นไข้สูง
-
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-
การใช้ยานอนหลับ
-
การขาดธาตุโพแทสเซียม
-
การใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจ
สามารถรักษาโรคใหลตายได้อย่างไร?
เบื้องต้น เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคใหลตาย โดยการลดปัจจัยเสี่ยงข้างต้น เช่น หากมีไข้สูง ควรใช้ยาลดไข้ ลดหรือเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น และในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีการรักษา ซึ่งทำได้โดยการฝังเครื่องกระตุกหัวใจเข้าไปในร่างกาย และการรับประทานยาช่วยเสริม เพื่อป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ข้อควรรู้ ควรทำอย่างไร หากมีคนในครอบครัวมีอาการโรคใหลตาย?
-
อาการที่พบในโรคใหลตายคือ หมดสติ ชักเกร็ง หัวใจหยุดเต้น
-
หากพบทันที ควรจับผู้ป่วยนอนราบ โทรเรียกรถพยาบาล (1669)
-
หากผู้ป่วยไม่หายใจ หรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัว เป็นชุดด้วยความถี่ประมาณ 100ครั้ง/ นาที จนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว
-
ไม่ควรงัดปากคนไข้ด้วยช้อน ของแข็ง เพราะอาจเป็นอันตรายได้
-
ไม่ตระหนก ตั้งสติ และพึงระลึกเสมอว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคอื่น เช่น ลมชัก หรือโรคหัวใจ ที่อาจเป็นสาเหตุของการหมดสติได้เช่นกัน
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย:
นพ.ภาณุพงศ์ ดำเกิงขจรวงศ์
เเพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ