อาการต้อกระจก การรักษา วิธีป้องกัน และข้อควรระวังหลังผ่าตัด
ต้อกระจก คือ ภาวะเลนส์ตาขุ่น ไม่ใช่กระจกตา โดยภาวะนี้จะทำให้มีอาการหลักคือ มองเห็นภาพไม่ชัด ซึ่งลักษณะการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้นมีหลายแบบ แต่ส่วนมากแล้วอาการจะค่อยเป็นค่อยไป หลักเดือนหรือหลักปี
สาเหตุของต้อกระจก
- จากอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสที่จะเป็นต้อกระจกได้
- ยาสเตียรอยด์ ( steroid ) ซึ่งผู้ที่มีโอกาสจะได้รับยานี้ได้แก่ โรคภูมิแพ้, โรค SLE หรือคนที่กินยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร อาจจะมีส่วนประกอบของสาร สเตียรอยด์ ( steroid ) ได้
- อุบัติเหตุทางตา
- แสงยูวี
ผลแทรกซ้อนต้อกระจก
จริง ๆ แล้วโรคต้อกระจกเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป น้อยครั้งที่จะมีผลแทรกซ้อนอะไร แต่มีภาวะหนึ่งที่อันตรายมากคือภาวะต้อหิน ที่เกิดจากเลนส์ตาสุกเต็มที่แล้วมันบวม จนปิดทางระบายน้ำในลูกตาทำให้น้ำในลูกตาระบายไม่ได้เกิดอาการปวดตา ขึ้นเฉียบพลันได้ ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมานานจนสุกแล้ว ดังภาพข้างล่าง
โรคนี้เรียกว่า Phacomorphic Glaucoma หรือ ต้อหินจากต้อกระจกที่บวมเปล่ง จะเห็นว่าคนไข้จะมีอาการปวดตา ตาแดงเฉียบพลัน และส่องไฟจะเห็นเลยว่า ตาดำและขาวผิดปกติ เวลาปวดในกรณีนี้ยาอะไรก็เอาไม่อยู่
การรักษาต้อกระจก
ต้อกระจกมีวิธีการรักษาเดียวคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันทั่วโลก และวิธีที่นิยมมากที่สุดคือ การทำ Phacoemulcification หรือ เฟโกอีมัลซิฟิเคชั่น คือการใช้เครื่องเสียงความถี่สูงเข้าไปสลายเลนส์ตาเก่าให้มีขนาดเล็กแล้วใส่เลนส์ตา ใหม่เข้าไป
การผ่าตัดสลายต้อกระจก เป็นการผ่าตัดแผลเล็กมากขนาด 3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล ซึ่งการผ่าตัดเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยใช้เวลาเฉลียประมาณ 10 – 30 นาที แล้วแต่ประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด และความยากของเคส นอกจากนี้การใส่เลนส์ตาเทียม ใหม่จะสามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง หรือสายตามองใกล้ผิดปกติได้ด้วย
ชนิดของเลนส์ตาเทียม
- Monofocal IOL เป็นเลนส์ตาเทียม ชนิดมองไกลได้ระยะเดียว สามารถแก้ไข สายตาสั้น ยาว ที่มีอยู่เดิมก่อนผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นเลนส์ตาเทียมที่นิยมใช้มากใน รพ.ทั่วไปในประเทศไทย
- Toric IOL เป็นเลนส์ตาเทียมที่แก้ไขสายตาเอียง
- Multifocal IOL เป็นเลนส์ตาเทียมที่มองได้หลายระยะ นิยมใช้ในต่างประเทศและโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย
ทั้งนี้การจะเลือกใช้เลนส์ตาเทียมแบบไหนนั้นต้องอาศัยการปรึกษากับคุณหมอที่ จะผ่าตัด เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงได้แก่ สภาพตา อาชีพ ชีวิตประจำวัน เพราะเลนส์ที่ใส่เข้าไปนั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม
- การผ่าต้อกระจก เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย โดยผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตา และหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวจากเซลล์ตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ปวดตา แสงจ้า การเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาเทียม ในกรณีที่พบความรุนแรงยิ่งขึ้น คือ มีการสูญเสียดวงตาและการมองเห็นซึ่งภาวะที่กล่าวมาพบได้น้อยมาก และอาจเกิดในระยะเป็น วัน สัปดาห์ เดือน หรือหลายปี หลังการผ่าตัด และขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วย
- การมองเห็นหลังผ่าตัดยังขึ้นอยู่กับภาวะของจอประสาทของผู้ป่วยอีกในบางรายอาจ ได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติม รวมถึงการยิงเลเซอร์เพื่อช่วยในการมองเห็น
ขั้นตอนในการผ่าต้อกระจก
ก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนการผ่าต้อกระจก หลังจากที่ตกลงและกำหนดวันผ่าตัดได้แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์คือ
- เจาะเลือด CBC เพื่อดูความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว
- วัดเลนส์ตา เพื่อจะได้เตรียมเลนส์ตาเทียม เบอร์ที่เหมาะสมใส่เข้าไป ทดแทนตอนผ่าตัด
- หยุดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด
- ฝึกนอนให้ผ้าคลุมหน้า ประมาณ 30 นาที
- ใช้น้ำยาทำความสะอาดเปลือกตาฟอกบริเวณโคนขนตา ทุกวันก่อนผ่า 7 วัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
- หยอดยาฆ่าเชื้อก่อนผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อ
- ทำใจให้สบาย สงบ ลดความวิตกกังวล
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก
ยาชา หรือยาสลบ ส่วนใหญ่แล้วการผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องดมยาสลบ นี่คือข้อดี ดังนั้นคนไข้จำนวนมากที่สูงอายุแล้วมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการดมยาก็ สามารถผ่าตัดได้ ส่วนยาชา มีทั้งแบบหยอด และฉีดรอบดวงตา เพื่อไม่ให้เจ็บเวลาผ่าตัด และป้องกันการกรอกตาระหว่างผ่าตัด
จากนั้นแพทย์จะมีการกรีดกระจกตาให้เกิดช่องขนาดเล็กมากสำหรับสอดเครื่องมือทางการแพทย์ ก่อนจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงในการสลายต้อกระจกแล้วดูดออก ก่อนใส่เลนส์ตาเทียม (แก้วตาเทียม) เข้าไปแทนที่เลนส์ตาเดิมที่เกิดภาวะขุ่นมัว
หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดใส่ที่ครอบตาป้องกันดวงตา และอยู่พักฟื้นในห้องประมาณ 15 – 30 นาที จึงสามารถกลับบ้านได้ตามปกติ หากผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นโรคต้อกระจกทั้ง 2 ข้าง การผ่าตัดจะทำทีละข้าง โดยอาจทิ้งระยะเวลาในการผ่าตัดแต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อรอให้ดวงตาข้างที่ผ่าตัดมีอาการดีขึ้นก่อน
ข้อปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดใส่เลนส์ตาเทียม
- วันแรกหลังผ่าตัด ควรนอนพักให้มากที่สุด นอนหัวสูง 45 องศา และ ห้ามนอนตะแคงด้านที่ผ่าตัด
- หลังผ่าตัด 1 วัน แพทย์จะนัดเปิดตาและทำความสะอาดตา โดยใช้สำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดจากหัวตาไปหางตาจนสะอาด
- ควรสวมแว่นกันแดดในช่วงเวลากลางวัน และใช้ที่ครอบตาเฉพาะเวลานอนเท่านั้น เป็นเวลา 1 เดือน
- ห้ามน้ำเข้าตาเป็นเวลา 1 เดือน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดแทนการล้างหน้าแบบปกติ ระวังน้ำเข้าตาระหว่างอาบน้ำถ้าสระผมควรไปสระที่ร้าน หรือให้ญาติสระให้
- งดออกกำลังกายหนักๆหรือยกของหนักเป็นเวลา 1 เดือน และอย่าก้มลงเก็บของต่ำกว่าระดับเอว
- ใช้ยาตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติตัวตามที่แนะนำอย่างเคร่งคัด
- มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตามัว ปวดตามาก มีขี้ตา ตาแดง ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
ภาวะตามัวหลังผ่าตัดต้อกระจก
PCO – posterior capsular opacity ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยหลังการผ่าตัดต้อกระจกในต่างประเทศ มีคำศัพท์ที่เรียกว่า secondary cataract คือภาวะที่เกิดจาก เซลล์ใน ถุงหุ้มเลนส์ form ตัวหนา และขุ่นขึ้น หลังเลนส์ตาเทียม หลังการผ่าตัดต้อกระจก ทำให้มีอาการตาพร่ามัว โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ 20% ของคนไข้ที่ผ่าตัดต้อกระจก
สาเหตุ
โดยปกติแล้วเวลาที่ผ่าตัดต้อกระจก จักษุแพทย์จะทำการเอาเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นออก แล้วแทนที่ด้วยเลนส์ตาเทียมเข้าไปทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่ถุงหุ้มเลนส์ยังคงจะต้องเหลือไว้เช่นเดิมเมื่อเวลาผ่านไปถุงหุ้มเลนส์จะขุ่นขึ้นตามการเวลา เรียกภาวะนี้ว่า PCO
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกตา หู คอ จมูก
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4011