เตรียมความพร้อมเต้านมคุณแม่ ก่อนคลอด สำคัญอย่างไร ?
เตรียมความพร้อมเต้านมคุณแม่ก่อนคลอด สำคัญอย่างไร ?
ปัจจุบัน สถิติการให้นมแม่ทั่วโลกมีเพียง 43% องค์การอนามัยโลก (WHO) พยายามช่วยกันรณรงค์ให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน (Exclusive breast feeding 6 months) ให้ได้ 50% ในปี 2025 ซึ่งในประเทศไทยมีการสำรวจเมื่อ 2020 พบว่า มีการให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียง 23.1% เท่านั้น สาเหตุหนึ่งของปัญหานี้ มาจากหัวนมของคุณแม่ที่ไม่พร้อม หรือไม่สามารถให้นมได้
วิธีการประเมินเบื้องต้นว่า “หัวนมปกติ” หรือไม่?
1) การสังเกตลักษณะของเต้านมและหัวนมด้วยตนเอง
คือ การดูแลวัดความยาวของหัวนม จากฐานลานนม
- หัวนมปกติ - หัวนมยาว 0.7 - 1 ซม.
- หัวนมสั้น - หัวนมยาวน้อยกว่า 0.7 ซม.
- หัวนมบอด - หัวนมจะไม่ยื่นออกมา หรือบุ๋มลงไป
2) Pinch Test
คือ การวางหัวแม่มือและนิ้วชี้ไว้ที่ฐานของหัวนม ใกล้กับขอบลานนม จากนั้นค่อยๆ กดนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้เข้าหากัน เพื่อบีบหัวนมเบา ๆ ให้หัวนมยื่นออกมาจากลานนม
- หัวนมปกติ - หัวนมจะยื่นออกมา จากลานนมปกติ ประมาณ 1 ซม.
- หัวนมสั้น - หัวนมจะอยู่กับที่ หรือเคลื่อนเล็กน้อย
- หัวนมบอด - หัวนมของคุณแม่ จะหดตัวกลับและจมลงไป
3) Waller’s Test
คือ การวางมือบนเต้านมให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ วางราบไปกับผิวหนัง ให้นิ้วทั้งสองนั้นอยู่ชิดหัวนมตรงรอยต่อระหว่างหัวนม และลานหัวนม จากนั้นกดนิ้วทั้งสองเข้าหากัน เป็นการเลียนแบบการดูดนมตามธรรมชาติของลูก ซึ่งหากคุณแม่จับหัวนมได้ แสดงว่าลูกน้อยสามารถดูดนมแม่ได้ แต่ถ้าหัวนมผลุบลงไปจับไม่ติด แสดงว่าหัวนมแบนราบเกินไปหรือหัวนมบุ๋ม จะทำให้ลูกดูดนมแม่ไม่ได้
เตรียมความพร้อมในการให้นมลูกหลังคลอด
หากคุณแม่ตรวจพบว่า หัวนมของตัวเองนั้นมีความผิดปกติ เช่น มีหัวนมสั้น หรือหัวนมบอด สามารถทำการแก้ไขก่อนคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้นมลูกหลังคลอดได้ ดังนี้
-
แก้ไขหัวนมสั้น สามารถนวดคลึงและดึงหัวนมได้ด้วยตัวเอง ตามวิธีดังนี้คือ
- Nipple rolling จับด้านข้างของหัวนมตรงส่วนที่ติดกับลานนม ด้วยนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ คลึงเบา ๆ ไปมา พร้อมกับจับหัวนมดึงยืดออกมาเล็กน้อยแล้วปล่อย ทำซ้ำประมาณ 5 - 10 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง
- Hoffmann’s maneuver วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างให้ชิดโคนหัวนม จากนั้นกดนิ้วและดึงแยกออกจากกันไป ทางด้านข้างทั้งสองทางเบาๆ ทำทั้งจากด้านข้าง ด้านทิศบนและล่างให้รอบบริเวณหัวนม ทำซ้ำ 10 - 20 ครั้งต่อข้าง หลังอาบน้ำ
- การใช้ปทุมแก้ว (Breast Shell หรือ Breast Cup) ใช้ปทุมแก้วครอบให้หัวนม อยู่ตรงกลางรูของฐานปทุมแก้ว หัวนมจะยื่นขึ้นมาที่ขอบรู และส่วนปทุมแก้วที่นาบกับลานหัวนม โดยใส่ไว้ใต้เสื้อชั้นในเฉพาะเวลากลางวันหลังอาบน้ำ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ วันละ 2-3 ชั่วโมง อาจใช้ประมาณ 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน
-
แก้ไขหัวนมบอด อุปกรณ์ที่ช่วยดึงหัวนมแม่ได้ มีดังนี้
- Nipple puller ด้วยการใช้นิ้วมือคุณแม่ บีบกระเปาะยางแล้วไปครอบหัวนม จากนั้นปล่อยนิ้วที่บีบกระเปาะเบา ๆ ใช้วิธีนี้ดึงหัวนมบ่อยๆ ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ครั้งละ 10 นาที
- Syringe puller โดยนำไซริงค์มาดูดบริเวณหัวนม วิธีการคือดึงลูกสูบขึ้นประมาณ 1/3 ของกระบอก แล้วนำด้านที่มีปีกมาครอบหัวนมให้สนิท ดึงลูกสูบช้า ๆ จนเห็นหัวนมยื่นยาวออกมา
ข้อควรระวัง: ไม่ควรกระตุ้นด้วยการนวดจับหรือสัมผัสเต้านมและหัวนมนานเกินไป ควรเริ่มเมื่ออายุครรภ์ 14 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากการกระตุ้นเต้านม ร่างกายจะส่งสัญญาณไปที่สมอง อาจทำให้มดลูกบีบรัดตัว จนแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ นอกจากความยาวและลักษณะหัวนม ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีก เช่น การตรวจคลำพบก้อนเต้านม ลักษณะผิวของเต้านม ความชุ่มชื้น หรือ รอยแตกแยกของผิวหนังบริเวณหัวนม ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ที่อาจมีผลต่อการให้นมลูกในอนาคตอันใกล้
ดังนั้นหากคุณแม่มีความผิดปกติด้านหัวนม หรือเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ ผู้ดูแลตลอดการฝากครรภ์ก่อน เพื่อรับคำแนะนำอย่างถูกต้อง
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกสุขภาพสตรี
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4204