โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue infection)
ซึ่งเกิดจากการที่ยุงลายที่มีเชื้ออยู่ไปกัดผู้ป่วยแล้วปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย โดยหลังจากที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจากนั้นผู้ป่วยจึงจะเริ่มแสดงอาการ โดยไข้เลือดออกนั้นสามารถพบได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่มีการระบาดมักจะเป็นฤดูฝน โดยสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
อาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นระยะแรก (ระยะไข้) จะเริ่มจาก มีอาการไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศา นาน 2-7 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก หน้าแดง ในเด็กเล็กจะสังเกตุว่ามักทานน้อยลง จะไม่ค่อยเล่น เช็ดตัวแล้วสักพักไข้ก็กลับมาอีก หลังจากระยะไข้แล้ว จะเข้าสู่ระยะวิกฤต คือ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดท้อง กดเจ็บชายโครงขวา มีเลือดออกเช่น เลือดกำเดา ถ่ายเป็นเลือด จุดจ้ำเลือดตามตัว เลือดออกตามไรฟัน และหากกรณีรุนแรงอาจพบมีภาวะช็อก คือ กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ความดันต่ำ คลำชีพจรไม่ได้ ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤต ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิต
การวินิจฉัยมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว โดยวินิจฉัยจากประวัติและตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยนอกจากการดูผลตรวจเบื้องต้น(CBC) แล้วปัจจุบันยังสามารถตรวจหาตัวเชื้อหรือภูมิคุ้มกัน(Dengue NS1 Ag, IgM, IgG , Dengue PCR) ซึ่งช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งหากวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะไข้ก็จะสามารถวางแผนการรักษาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหรือโรครุนแรงได้แก่ เด็กเล็ก < 1 ปี , อ้วน , โรคโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรืออื่นๆ
การรักษาในปัจจุบันยังไม่ได้มียาต้านเชื้อไวรัสโดยตรง การดูแลจึงเน้นไปที่การรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยฟื้นตัวโดยเร็ว โดยในระยะไข้นั้นเน้นที่การเช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ห้ามรับประทานยาลดไข้สูง( Ibuprofen)หรือกลุ่มยาแอสไพรินหรือ NSAID โดยเด็ดขาด ส่วนระยะวิกฤตจำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่นรักษาตัวในรพ.เพื่อให้น้ำเกลือและติดตามสัญญาณชีพและเฝ้าระวังภาวะเลือดออก
การป้องกันคือป้องกันระวังไม่ให้เด็กถูกยุงกัด เช่น สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงเช่นตามภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้สารเคมีเช่น ทรายอะเบท กำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือกรณีที่ละแวกบ้านหรือโรงเรียนมีการระบาดควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลพ่นยาตามมาตรการป้องกันต่อไป ในส่วนของวัคซีนสามารถให้ในเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป โดยประสิทธิภาพและข้อควรระวังแนะนำปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
จุดเน้นย้ำที่อยากฝากถึงผู้ปกครองคือเรื่องของการดูแลเด็กหากมีอาการไข้สูงนาน 3 วัน โดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการที่เข้าได้กับไข้เลือดออก ควรพาไปตรวจเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัย และกรณีที่เป็นไข้เลือดออกห้ามรับประทานยาลดไข้สูง(Ibuprofen)หรือยากลุ่ม NSAID และควรดูแลเด็กๆให้ห่างไกลจากยุงโดยเฉพาะช่วงที่เข้าหน้าฝนด้วยนะครับ
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกเด็ก 24 ชั่วโมง
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4401