4 อาหารบำรุงกระดูก หาทานง่าย และทำกินเองได้ที่บ้าน
บ่อยครั้ง เราสามารถรับรู้ได้ว่าสุขภาพของเราเริ่มแย่ลงก็ตอนที่ร่างกายของเราแสดงอาการอะไรบางอย่าง เช่น อาการเจ็บปวดตามร่างกาย หรือเมื่ออวัยวะระบบรับรู้ต่าง ๆ เช่น หู ตา จมูก ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่เคย และบ่อยครั้งที่เราเผลอปล่อยให้ร่างกายของเราค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง เนื่องจากละเลยการดูแลรักษาอย่างใส่ใจ
นอกเหนือจากกล้ามเนื้อและอวัยวะระบบรับรู้ต่าง ๆ กระดูก ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของร่างกายที่ควรได้รับการดูแลรักษา การเสริมสร้างกระดูกให้มีความแข็งแรงอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่กลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา โดยวันนี้เราจะมาแนะนำ 4 อาหารหลักบำรุงกระดูก ที่สามารถหาทานได้ง่าย และสามารถประกอบอาหารทานที่บ้านได้พร้อมกับครอบครัวอีกด้วย!
1. ผลิตภัณฑ์จากนม
เราทุกคนล้วนคุ้นชินกับการดื่มนมมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นนมแม่ นมวัว หรือนมตัวเลือกต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น นมถั่วเหลือง หรือ นมอัลมอนด์ โดยนม หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีนมเป็นส่วนประกอบมักอุดมไปด้วยสารอาหารประเภทแคลเซียม รวมถึงมีโปรตีน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการบำรุงสุขภาพกระดูก
2. ไข่
ไข่เป็นตัวเลือกอาหารที่มีราคาค่อนข้างย่อมเยาแต่มีคุณค่าโภชนาการที่ค่อนข้างสูง ในไข่หนึ่งฟองเต็มไปด้วยคุณค่าของสารอาหารมากมาย ไข่แดงเพียงหนึ่งฟองอุดมไปด้วยวิตามินดีที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายสูงถึงประมาณ 40 IU และในไข่ขาวก็อุดมไปด้วยโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้น การรับประทานไข่วันละหนึ่งฟองร่วมกับอาหารชนิดอื่น เป็นอีกหนึ่งวิธีส่งเสริมสุขภาพกระดูกและร่างกายที่ดีเลยทีเดียว
3. ปลาทะเล
ปลาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยในปลาทะเลประกอบไปด้วยสารอาหารมากมาย อย่างเช่น กรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย โปรตีน รวมถึงมีวิตามินดีที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกอีกด้วย โดยปลาทะเลที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นที่นิยม ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู และปลาซาร์ดีน เป็นต้น
4. ผักใบเขียว
นอกจากอาหารประเภทนมและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบว่า ผักใบเขียว มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกเช่นกัน โดยผักชนิดต่าง ๆ ที่มีใบเขียวเข้ม อย่างเช่น ผักกะเฉด คะน้า ใบชะพลู หรือบร็อคโคลี่ ล้วนอุดมไปด้วยวิตามินเคและแคลเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูก ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรบริโภคผักใบเขียวบางชนิดเช่น ใบยอ หรือ ใบชะพลู มากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้
การรับประทานอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อดูแลรักษากระดูกของเรา แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพกายโดยรวมที่ดี เราควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกระดูก และเมื่อมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม