ลูกพัฒนาการช้ารู้ได้อย่างไร
ลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกว่าลูกซนมาก สงสัยว่าลูกจะเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่ แล้วเด็กสมาธิสั้นเป็นอย่างไรโดยทั่วไปอาการของเด็กสมาธิสั้นมักเริ่มเมื่ออายุ 2-3 ปี แต่คุณพ่อคุณแม่มักจะพาลูกมาพบแพทย์เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนแล้วคืออายุระหว่าง 5-10 ปี
เด็กสมาธิสั้นพบบ่อยแค่ไหน
ถ้าห้องเรียนมีเด็กนักเรียน 50 คน จะพบเด็กสมาธิสั้นได้ 2-3 คน พบในเด็กผู้ชายบ่อยกว่าเด็กผู้หญิง
ลักษณะของเด็กสมาธิสั้นเป็นอย่างไร
เด็กสมาธิสั้นมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรม เหม่อลอย ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ ทำงานไม่เสร็จ ไม่มีระเบียบ วอกแวกง่าย ไม่สนใจหรือไม่ฟังเวลามีคนพูดด้วย
- ซน ไม่นิ่ง นั่งไม่ติดที่ ชอบลุกเดินไปมา พูดเก่ง พูดไม่หยุด เด็กเล็กจะวิ่งไปมา ชอบปีนป่ายตลอด เล่นแรง เล่นได้ตลอดเวลาเหมือนเครื่องยนต์ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เด็กโตจะยุกยิก ขยับไปมา
- หุนหันพลันแล่น หงุดหงิด กระวนกระวาย รอคอยไม่ได้ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ อารมณ์แปรปรวน เปลี่ยนแปลงง่าย พูดแทรกบ่อยๆ
ปัญหาที่อาจพบร่วมด้วยในเด็กสมาธิสั้น
- ปัญหาการเรียน มีผลการเรียนต่ำ
- โรคแอลดี (LD) หรือบกพร่องในทักษะการเรียน มีปัญหาการอ่าน ความเข้าใจ การเขียนหรือการคิดคำนวณ
- ปัญหาพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ไม่ทำตามคำสั่ง เกเร ชอบรังแกเพื่อน
- โรคกล้ามเนื้อกระตุก (Tics)
- อาจเติบโตเป็นวัยรุ่นที่เกเร เป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด
โรคสมาธิสั้นเกิดได้อย่างไร
โรคนี้เกิดจากสมองส่วนหน้าที่ควบคุมการมีสมาธิจดจ่อและการยังยั้งชั่งใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลจากพันธุกรรม มีพ่อหรือแม่เป็นโรคสมาธิสั้น สมองได้รับความกระทบกระเทือนในระยะแรกๆของชีวิต โดยเฉพาะในระหว่างคลอด แม่ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราในระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ ขาดออกซิเจนแรกเกิด ได้รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว สาร organophosphate ทำให้สมองส่วนหน้าพัฒนาไม่สมบูรณ์ มีสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานดังกล่าวต่ำกว่าปกติ
ถ้าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นแล้วจะรักษาอย่างไร
การรักษาโรคนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครูและตัวเด็ก จึงจะได้ผลดี การรักษาที่สำคัญประกอบด้วยการใช้ยา และการปรับพฤติกรรม/สิ่งแวดล้อม
- การใช้ยา เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองให้มีสมาธิเพิ่มขึ้นโดยการปรับระดับสารสื่อประสาทให้สมดุล ซึ่งมีหลายชนิด แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะสมกับเด็กร่วมกับคุณพ่อคุณแม่หรือ ผู้ปกครอง
- การปรับพฤติกรรม/สิ่งแวดล้อม
- ตั้งกฎกติกาและสื่อสารกับลูกให้ชัดเจน ด้านการเรียน การทำการบ้าน งานที่ต้องรับผิดชอบ จำกัดเวลาในการใช้จอสื่อ เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ แท็บเล็ต
- จัดตารางเวลา แบ่งขั้นตอนการทำงานเป็นขั้นตอนย่อยๆ ให้เด็กทำทีละขั้น
- จัดที่นั่งแถวหน้า ใกล้คุณครู ไม่นั่งใกล้ประตูหรือหน้าต่าง จัดการสอนเป็นช่วงสั้นๆ ให้เด็กช่วยคุณครูแจกสมุด เขียนหรือลบกระดาน ให้เวลาในการทำงานมากกว่าเด็กคนอื่น
- จัดโต๊ะทำการบ้าน ทบทวนบทเรียนที่บ้านที่สงบ ไม่มีสิ่งรบกวนเพื่อเสริมให้เด็กมีสมาธิ
- ให้รางวัลหรือชมเชยเมื่อเด็กทำงานได้สำเร็จเพื่อเป็นแรงเสริมให้เด็กมีความภูมิใจและอยากทำงานอีก
- เพื่อนที่โรงเรียนควรช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นโดย เข้าใจ ไม่ล้อเลียน คอยเตือนเมื่อถึงเวลารับประทานยา เมื่อวอกแวกหรือเหม่อลอย ช่วยเหลือด้านการเรียน การทำงานกลุ่มหรือการบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นควรเข้าใจว่าลูกไม่ได้แกล้งหรือขี้เกียจ ควรยอมรับและพยายามช่วยเหลือลูก ไม่ลงโทษรุนแรง หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นควรพาลูกมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจประเมินวินิจฉัยและรับการบำบัดรักษาต่อไป
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาได้ที่ Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
เรายินดีให้บริการคุณตลอด 24 ชั่วโมง
เบอร์โทรศัพท์ (+66)02 0805999