หวัดหน้าร้อน ใน “เด็ก”
เมื่อฤดูร้อนวนมาถึง อากาศในประเทศไทย จะค่อนข้างร้อนจัด ซึ่งอากาศที่ร้อนมาก ๆ นำมาซึ่งอาการป่วยได้ทุกช่วงวัย ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ซึ่งเราสามารถพบอาการเด็กป่วยด้วยโรคไข้หวัดในฤดูร้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น ไข้หวัดแดด ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยมาก
ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดแดด ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดแดด
เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเด็กปรับตัวตามไม่ทัน เด็กจึงมักจะมีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ มีไข้สูง จาม คัดจมูก จากการติดเชื้อไวรัส “Influennza virus” ยิ่งถ้าเด็กมีร่างกายอ่อนแอ สุขภาพไม่แข็งแรงแล้ว มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ง่าย ๆ เลย
ไข้หวัด
ส่วนไข้หวัด จะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มักมีเสมหะร่วมด้วย (ส่วนไข้หวัดแดด จะไม่ค่อยมีน้ำมูกหรือมีน้ำมูกใส ๆ เล็กน้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึก ขมปาก คอแห้ง แสบคอ อ่อนเพลียและอื่น ๆ เด็กจึงมักจะเบื่ออาหาร ทานข้าวได้น้อย)
ไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคที่ติดต่อง่าย และสามารถพบได้ตลอดทั้งปี พบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่น ๆ เกิดได้ง่าย จากการไอจามรดกัน สัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า เช่น ปอดบวมและแก้วหูอักเสบ โดยเมื่อวัดไข้ ไข้จะสูง 39 – 40 องศาเซลเซียส มีอาการปวดหัวและปวดเมื่อยตามตัวมาก ปวดเบ้าตา ไอมีเสมหะ อาจจะมีภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อน และหายใจเหนื่อยหอบ
วิธีดูแลเมื่อเด็กเป็นไข้หวัด
- ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อเช็คตรวจอาการไข้หวัด อย่าปล่อยไว้หรือให้รับประทานยาเอง เพราะไข้หวัดเดี่ยวนี้มักจะมีอาการรุนแรง หรืออาการอาจจะคล้ายกับโควิดมาก แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อการคัดกรองและตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง
- ให้รับประทานยาลดไข้ หรือยาตามอาการ (รับประทานยาลดไข้ตามแพทย์สั่งทุก 4 - 6 ชั่วโมง)
- หมั่นเช็ดตัวเด็ก เพื่อระบายความร้อนภายใน และให้เด็กนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังสถานที่ที่แออัด เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส
- หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยตรง หรืออากาศร้อนจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าให้เด็ก ให้เด็กสบายตัว และระบายอากาศได้ดี
- พยายามให้เด็กดื่มน้ำสะอาด เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย และป้องกันอาการของ ร่างกายขาดน้ำ
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้ก่อน เมื่ออายุถึงเกณฑ์ (ในเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรให้ทุกปีๆปีละ 1 ครั้ง เพราะเชื้อโรคจะมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี)
- การฉีดวัคซีน แนะนำให้ฉีดโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เป็นการฉีดเพื่อลดความรุนแรงของโรคแต่ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัด แต่ถ้าหากติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรงมาก
- เด็กเล็กถ้าเป็นไข้ เวลาเป็นไข้มักจะมีอาการอยู่นาน เพราะภูมิต้านทานในเด็กเล็ก
- ค่อนข้างต่ำ เพิ่มโอกาสจะแพร่กระจายไปสู่คนอื่น รวมถึงคนในครอบครัว ดังนั้นการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก จะช่วยลดการติดต่อไปสู่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยได้ด้วย
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv