มาตรวจสุขภาพตามช่วงอายุกันเถอะ
23 กุมภาพันธ์ 2567
จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการตายต่อประชากรในทุกภาคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและกรุงเทพฯ ที่มีอัตราการตายสูงสุดที่ 8.5 และ 8.2 รายต่อประชากร 1,000 คน สาเหตุการตาย ในปี 2562 พบว่า สาเหตุการตาย 3 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด โรคระบบไหลเวียนโลหิต และโรคระบบทางเดินหายใจ
การตรวจสุขภาพเป็นการตรวจเพื่อป้องกันและค้นหาโรคในระยะเริ่มต้นโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง และอื่น ๆ โดยรายการตรวจสามารถแบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้
- อายุ 18-60 ปี
- อายุมากกว่า 60 ปี
อายุ 18-60 ปี
1. ตรวจร่ายการทั่วไป
ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. ตรวจสายตา
อายุระหว่าง 40 – 60 ปี ควรตรวจวัดสายตา 1 ครั้ง
3. การตรวจคัดกรองมะเร็งที่จำเป็น
- มะเร็งเต้านม อายุ 30 – 39 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี และ อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี ควรคลำเต้านมด้วยตนเอง และตรวจ mammogram ทุก 1- 2 ปี
- มะเร็งปากมดลูก อายุ 30 – 65 ปี ควรตรวจ pap smear ทุก 3 ปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจหาภาวะซีด อายุ 18 – 60 ควรตรวจหาภาวะซีด 1 ครั้ง เพื่อให้การดูและรักษาที่เหมาะสม
- ตรวจหาเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 3 ปี ถ้าตรวจเจอเร็วจะรักษาได้เร็ว ป้องกัน และชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
- ตรวจหาไขมันในเลือด อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจทุก 5 ปี ช่วยคัดกรอง และป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง
5. แบบประเมินสภาวะสุขภาพของคนวัยทำงานที่จำเป็น
สามารถคัดกรองได้ด้วยตนเอง หรือ บุคลากรสาธารณสุข โดยใช้แบบประเมิน ภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดบุหรี่ สุรา ยาและสารเสพติด เพื่อให้รับคำปรึกษาและการดูแลที่เหมาะสม
อายุมากกว่า 60 ปี
1. ตรวจร่างกายทั่วไป
ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2. ตรวจสายตา
อายุ 60 - 64 ปี ตรวจทุก 2 - 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
- ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
- ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
- ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
- ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
4. ตรวจคัดกรองมะเร็ง
- มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี หลังจากนั้นตรวจตามความเหมาะสม
- มะเร็งเต้านม ตรวจ mammogram ทุก 1-2 ปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
5. ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
- ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
- ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
- ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
- ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
- ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม
ข้อมูลอ้างอิง :
แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน 2559 โดยกระทรวงสาธารณสุข