ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี อาจถูกหลายคนมองข้ามถึงความสำคัญ เพราะคิดว่าร่างกายมีความแข็งแรงสมบูรณ์ดี อีกทั้งไม่แสดงถึงอาการเจ็บป่วย หรือความผิดปกติใด ๆ แต่ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค หรือภาวะต่าง ๆ ที่ยังไม่แสดงอาการออกมา เพื่อเตรียมการรับมือในการรักษาแต่เนิ่น ๆ อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพประจำปีกันค่ะ
การตรวจสุขภาพประจำปี คืออะไร ?
การตรวจทั่ว ๆ ไปในผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อตรวจคัดกรอง ค้นหาโรคที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงอาการออกมา หรือตรวจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้นการตรวจประจำปีจึงมีประโยชน์ทั้งกับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพราะช่วยให้รับมือกับโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
การตรวจสุขภาพประจำปีต้องตรวจกี่ครั้ง ?
สำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีต้องตรวจอะไรบ้าง หรือความถี่ในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติครอบครัว และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน โดยปกติโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปีเบื้องต้นจะแบ่งตามเพศ และอายุ โดยแพทย์แนะนำให้ตรวจทุก 1 ปี และสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจที่บ่อยขึ้น
การตรวจสุขภาพเบื้องต้นมีอะไรบ้าง ?
การตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่สามารถตรวจเบื้องต้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงของกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ
- การตรวจร่างกายทั่วไป เป็นการตรวจร่างกายพื้นฐาน โดยแพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมถึงประวัติอาการต่าง ๆ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติการแพ้ยา และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย และการตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์ เพื่อให้แพทย์สามารถแยกโรคต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด การประเมินความเข้มข้นของเลือด เพื่อบอกถึงสภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด และความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FPG) และค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
- การตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงไขมันชนิดดีและไม่ดี เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- การตรวจวัดระดับกรดยูริก เป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
- การตรวจวัดการทำงานของไต โดยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับค่าครีเอตินิน ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ และค่า Blood Urea Nitrogen (BUN) ซึ่งเป็นค่าของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีน เพื่อประเมินความสามารถในการขับของเสียของไต
- การตรวจวัดการทำงานของตับ เป็นการตรวจเพื่อหาภาวะตับอักเสบ ตับเสื่อมสภาพ ภาวะดีซ่าน โดยการตรวจหาเอ็นไซม์และสารต่าง ๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของตับ และทางเดินน้ำดี
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยตรวจวัดจากระดับฮอร์โมนในเลือด เพื่อตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าทำงานได้อย่างปกติหรือไม่
- การตรวจไวรัสตับอักเสบ ไวรัสตับอักเสบบีสามารถตรวจคัดกรองจากการติดเชื้อเบื้องต้นได้จากส่วนประกอบของเชื้อ HBsAg และการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HBsAb ส่วนไวรัสตับอักเสบซี สามารถตรวจคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้จาก Anti-HCV
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง อาทิ การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งทางเดินอาหาร (CEA) การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายทุกช่วงวัย
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน
- การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น ได้แก่ ภาวะการอักเสบติดเชื้อในลำไส้ พยาธิ รวมถึงการตรวจหาภาวะเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งอาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ริดสีดวงทวาร รวมไปถึงโรคมะเร็งทางเดินอาหาร
- การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เป็นการตรวจเพื่อช่วยประเมินการทำงานของหัวใจในขณะพัก เพื่อดูความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การนำไฟฟ้าที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจเพื่อดูความผิดปกติในทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ วัณโรค และโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในปอด
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญในช่องท้อง เช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ที่อยู่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิง และต่อมลูกหมากในผู้ชาย
- การตรวจวัดความสามารถในการมองเห็นและความดันของลูกตา เป็นการตรวจสุขภาพตาทั่วไป และค้นหาความเสี่ยงของภาวะต้อ
การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จึงมีความจำเป็น และความสำคัญ เพราะจะทำให้ได้รู้ว่าร่างกายของตัวเองมีโรคใดที่ซ่อนอยู่หรือไม่ หากตรวจพบความผิดปกติจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังจะได้ คำแนะนำของการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลอีกด้วย