“มะเร็ง” คืออะไร รู้ไว รักษาก่อน
ตามสถิติแล้วโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของโลก แต่อัตราการรอดชีวิตของโรคมะเร็งในปัจจุบันเริ่มดีขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้มีการกำหนดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีให้เป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็งอีกด้วย
มะเร็งคืออะไร
มะเร็งคือโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ มะเร็งมักแทรกซึมและเข้าไปทำลายเนื้อเยื้อ และแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
มะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย
จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน ชายไทย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี ร้อยละ 33.2
- มะเร็งปอด ร้อยละ 22.8
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ร้อยละ 18.7
- มะเร็งต่อมลูกหมาก ร้อยละ 6.6
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้อยละ 6.6
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน หญิงไทย
- มะเร็งเต้านม ร้อยละ 34.2
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ร้อยละ 13.3
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี ร้อยละ 12.2
- มะเร็งปอด ร้อยละ 11.5
- มะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 11.1
สาเหตุของการเกิดมะเร็ง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนเซลล์ปกติให้เป็นเซลล์เนื้องอก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมของบุคคลกับสารภายนอกสามประเภท ได้แก่
- สารก่อมะเร็งทางกายภาพ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีไอออไนซ์
- สารเคมีก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน ส่วนประกอบของควันบุหรี่ แอลกอฮอล์ อะฟลาทอกซิน (สารปนเปื้อนในอาหาร) และสารหนู (สารปนเปื้อนในน้ำดื่ม)
- สารก่อมะเร็งทางชีวภาพ เช่น การติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
- อายุ การสะสมความเสี่ยงสำหรับมะเร็งบางชนิดจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และทำให้กลไกการซ่อมแซมเซลล์จะมีประสิทธิภาพน้อยลง
- พฤติกรรม การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การสูดอากาศที่เป็นพิษ รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัส Helicobacter pylori, papillomavirus ของมนุษย์ (HPV), ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
อาการและสัญญาณอันตรายที่เสี่ยงเป็นมะเร็ง
- การลดน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ปอด หรือตับอ่อน
- เป็นไข้ มักมีไข้ เหงื่อออกในเวลากลางคืน เนื่องจากเนื้องอกจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- มีก้อนบวมบนร่างกาย เช่น ที่คอ รักแร้ ท้อง ขาหนีบ หน้าอก เต้านม หรือลูกอัณฑะ
- รู้สึกเจ็บปวด จะต่างกับอาการปวดทั่วไป รักษาแล้วไม่หาย อาจจะหมายความว่ามะเร็งได้แพร่กระจายไปส่วนอื่นๆ แล้ว
- ผิวหนังเปลี่ยนไป มีรอยดำ คัน ผิวแดง ดีซ่าน ขนขึ้นมากกว่าปกติ
- ลำไส้กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ท้องผูก ท้องเสีย ปัสสาวะมามาก มาน้อย เกิดจากการทำงานผิดปกติของลำไส้
- มีเลือดออกผิดปกติ/ตกขาว คืออาการระยะเริ่มแรกหรือระยะลุกลามของมะเร็ง
ระยะของมะเร็ง
ระยะ 0 หมายถึง ไม่มีก้อนมะเร็ง มีเพียงเซลล์ผิดปกติที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ เรียกว่ามะเร็งในแหล่งกำเนิด
ระยะที่ 1 หมายถึง มะเร็งที่มีขนาดเล็กและมีเพียงบริเวณเดียวเท่านั้น เรียกว่ามะเร็งระยะเริ่มแรก
ระยะที่ 2 และ 3 หมายความว่ามะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและเติบโตเป็นเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง
ระยะที่ 4 หมายถึงมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เรียกว่ามะเร็งระยะลุกลาม
มะเร็งเป็นโรคที่มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยหลายรายรู้ตัวและเข้ารับการรักษาช้า จนมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีและเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งแจึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ตรวจพบและรักษาโรคมะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
บทความโดย : แพทย์หญิง สุกัญญา ศกศวัตเมฆินทร์
โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา