สารพัดโรคร้าย ทำลายตับ
ตับเป็นอวัยวะภายในร่างกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่ใต้ชายโครงด้านขวา โดยมีซี่โครงเป็นเกราะกำบัง ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้เป็นปกติ ทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อ ตลอดจนกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากเลือด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว ตลอดจนสร้างน้ำดี ซึ่งทำหน้าที่ในการดูดซึมไขมัน และวิตามินชนิดละลายในน้ำมัน ดังนั้นถ้าตับทำงานได้น้อยลง หรือเกิดโรคของตับจะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างก่ายที่ส่งผลไปทั้งระบบ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
โรคตับคืออะไร ?
โรคตับ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดแผลเป็นแบบถาวร จนทำให้เป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับช้าลง เริ่มตั้งแต่การผลิตโปรตีน การจัดการกับสารพิษในร่างกาย การไหลเวียนของเลือดที่ไหลผ่านตับไม่สะดวก หรือบางกรณีอาจปิดกั้นไป ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นหนักหนาแค่ไหน ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน และอาจนำพาให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน หน้าที่สำคัญของตับ คือช่วยในการผลิตน้ำดี ซึ่งน้ำดีนี้ก็จะทำหน้าที่ไปย่อยอาหารประเภทไขมัน และจัดการกับสารพิษต่าง ๆ ที่ร่างกายรับเข้ามา แล้วขับออกจากร่างกายไม่ให้มีการตกค้าง และยังทำหน้าที่ผลิตสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ทำให้เลือดสามารถหยุดไหลได้เมื่อประสบเหตุต่าง ๆ คนที่ตับมีปัญหามักจะเริ่มจากอาการที่ไม่ได้บ่งบอกชัดเจน เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นคอยสังเกตตัวเองให้มาก
สารพัดโรคร้ายทำลายตับ
- ไขมันพอกตับ เป็นไขมันสะสมในเนื้อตับ จนตับเกิดการอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เซลล์ตับจะค่อย ๆ ถูกทำลาย จนตับไม่สามารถทำงานได้ เกิดจากการที่เราบริโภคไขมัน น้ำตาล ของหวาน หรือบริโภคแป้งมากเกินไป พอร่างกายใช้ไม่หมด ก็จะสะสมเป็นไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ เมื่อนานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นมา
- ตับแข็ง สาเหตุหลักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และไขมันพอกตับเรื้อรัง โดยเมื่อเกิดตับแข็ง ก็ทำให้อัตราการเกิดมะเร็งตับเพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
- มะเร็งตับ เกิดจากภาวะตับแข็งจากทุกสาเหตุไม่ว่าจะจากแอลกอฮอล์ หรือไวรัสตับอักเสบ มะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ เช่น ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่ ท้องบวมขึ้น น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร อ่อนเพลีย ตัวเหลืองและตาเหลือง เป็นต้น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการกินเชื้อเข้าไปทางปาก เช่น อาหาร ผัดสด ผลไม้ น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อน เชื้อนี้ ทำไม่สุก ไม่สะอาด ไม่ต้มเดือด เป็นต้น ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ประมาณ 2- 6 สัปดาห์ มีอาการที่ชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน บางครั้งจึงพบมีการระบาด ในชุมชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกัน เช่น โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีคนเป็นพาหะที่สำคัญ พบในประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางเพศสัมพันกับผู้ที่เป็นพาหะ ทารกติดจากมารดาระหว่างคลอด
อาการที่บอกว่า คุณอาจเป็นโรคตับ
- มีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ แต่มักจะรู้สึกง่วงในเวลากลางวัน รู้สึกเหนื่อยง่ายคล้ายคนไม่มีเรี่ยวแรง บางคนอาจจะมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย และมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนเวลาทานอาหารแล้วไม่ย่อย รวมทั้งเรอบ่อยขึ้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจขาดไปเลย หรือมาแบบไม่สม่ำเสมอ ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็น ส่วนผู้ชายบางคนอาจมีอาการเต้านมขยาย มีอาการเจ็บที่เต้านม และบางคนอาจจะทำให้อัณฑะฝ่อตัว หรือสมรรถภาพทางเพศลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อยู่ ๆ มีอาการคันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะมีน้ำดีไปสะสมอยู่บริเวณผิวหนังส่วนนั้น เลยทำให้เกิดอาการคันตามตัวขึ้นมา
- ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายกับคนเป็นดีซ่าน เพราะตับไม่สามารถทำหน้าที่ขับน้ำดีออกจากตับได้ จนทำให้มีการแพร่กระจายไปที่ตา และร่างกายจนตัวเหลือง
- มีอาการบวมเกิดขึ้นที่หลังเท้า แขนขา และหน้าท้อง เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนในเลือดได้นั่นเอง
- เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น จะทำให้เลือดออกง่ายกว่าปกติ และไม่ยอมหยุดไหลง่าย ๆ เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้
- บางรายที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดเพราะความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง ซึ่งหากความดันสูงมากก็จะทำให้หลอดเลือดดำแตกได้
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้เจ็บป่วย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- มีอาการปวดแน่นที่ชายโครง รู้สึกร้อนวูบที่ช่องอก รวมไปถึงมีอาการตึงที่กล้ามเนื้อช่องท้อง จนเป็นที่มาของอาการปวดท้องน้อย
- ถ้าลองสังเกตบริเวณมุมปาก และริมฝีปาก จะเห็นว่ามีสีคล้ำผิดปกติ รวมไปถึงลิ้นก็จะออกสีม่วงคล้ำ และขอบลิ้นจะมีรอยกดทับของฟันด้วย
พฤติกรรมเสี่ยงโรคตับ
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตับมีปัญหาและเกิดโรคตับมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของแต่ละคนที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อสุขภาพของตับ ได้แก่
- รับประทานอาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ประเภท ปิ้งย่าง ของทอด ของมัน ๆ และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส กุ้ง ปูไข่ ไข่แดง จะทำให้ร่างกายมีไขมันส่วนเกินมากเกินไป จนทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง และอาจทำให้เกิดการสะสมที่ตับจนนำไปสู่โรคไขมันพอกตับ ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่ภาวะตับแข็งในที่สุด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะเสี่ยงเป็นโรคตับมากกว่าใคร เนื่องจากแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้มีไขมันสะสมในตับ เกิดการอักเสบและเกิดพังผืดในตับ และเมื่อตับอักเสบนาน ๆ เข้าก็จะก่อให้เกิดภาวะตับแข็งตามมาในไม่ช้า
- การรับประทานยาและอาหารเสริม เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ตับก็จะไม่สามารถทำลายได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้
- ภาวะอ้วนลงพุง เมื่อมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป จนทำให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรืออยู่ภายในสิ่งแวดล้อมที่มีควันจากบุหรี่ นอกจากส่งผลต่อปอดแล้วยังสามารถส่งผลถึงตับได้ด้วย การสูบบุหรี่จะส่งผลต่อการทำงานของตับผ่านการสูดดมควันบุหรี่ และผ่านสารนิโคตินที่มีสารอนุมูลอิสระปะปนอยู่ ซึ่งจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
- รับประทานน้ำตาลมากจนเกินไป โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสซึ่งมักพบในเครื่องดื่มที่มีรสหวานจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมอยู่ในตับ ดังนั้นถ้าเรารับประทานอาหารที่มีฟรุกโตสมากเกินไปจึงเป็นการทำร้ายตับ การมีระดับน้ำตาลที่สูงทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจนกลายเป็นโรคไขมันพอกตับได้ แม้ในผู้ที่ไม่อ้วนก็ตาม
รักษาโรคตับอย่างไร ?
แนวทางการรักษาโรคตับ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ
- การรักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคตับเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย การผ่าตัดเมื่อมีเนื้องอกในตับ การเลิกสุรา หรือการหยุดยา เมื่อโรคตับเกิดจากสุรา หรือ จากยา เป็นต้น นอกจากนั้นเมื่อตับสูญเสียการทำงานจนเกิด ภาวะตับวายเรื้อรัง การรักษาคือ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplantation)
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด หรือ ยาบรรเทาอาการคลื่น ไส้ อาเจียน ตามอาการ การทำผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำดี เมื่อมีตาเหลืองมากจากมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีในตับ และการให้สารน้ำและอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน ดื่ม ได้น้อย เป็นต้น
โรคตับ เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดแผลเป็นแบบถาวร จนทำให้เป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับช้าลง ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตับมีปัญหา และเกิดโรคตับมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารของแต่ละคนที่เปลี่ยนไป เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รับประทานอาหารปิ้งย่าง ภาวะอ้วนลงพุง แนวทางการรักษาโรคตับ คือ การรักษาสาเหตุ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกโรคระบบทางเดินอาหารและตับ
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 1211