ต้อกระจก ป้องกันได้
ต้อกระจก คืออะไร ?
ต้อกระจก คือ ภาวะเลนส์ตาขุ่น ไม่ใช่กระจกตานะคะ โดยภาวะนี้จะทำให้มีอาการหลัก คือ มองเห็นภาพไม่ชัด ซึ่งลักษณะการมองเห็นภาพไม่ชัดนั้นมีหลายแบบ แต่ส่วนมากแล้วอาการจะค่อยเป็นค่อยไป หลักเดือนหรือหลักปีค่ะ ที่นี้การที่มองภาพไม่ชัดเกิด จากอะไรนั้นจะอธิบายง่ายๆด้วยภาพข้างล่างนะคะ
เห็นไหมคะ ว่าเลนส์ตาเป็นตัวกลางที่ทำให้แสงผ่านไปยังจุดรับภาพ หรือจอประสาทตาได้ ดังนั้น การที่เลนส์ตาขุ่นหรือมีภาวะต้อกระจก จะทำให้แสงที่ภาพเข้าไปยังจุดรับภาพหรือจอประสาทตา กระจัดกระจาย ไม่คงที่และไม่มากพอ ทำให้ภาพที่ออกมาจากสมองเป็นภาพเบลอ
ลักษณะอาการเบลอหรือมัวของภาพ มีได้หลายแบบดังที่กล่าวไปแล้วนะคะ เช่น มัวในที่มีแสงสว่างจ้ามากกว่ามัวในที่มืด หรือมัวทั้งภาพ เห็นภาพซ้อนเป็นต้นค่ะ บางคนมีอาการสายตาเปลี่ยนบ่อย ไปวัดแว่นทีไรก็ไม่ชัดซักทีก็มีนะคะ
สาเหตุของต้อกระจก
1. จากอายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสที่จะเป็นต้อกระจกได้ค่ะ
2. ยาสเตียรอยด์ (steroid) ซึ่งผู้ที่มีโอกาสจะได้รับยานี้ได้แก่ โรคภูมิแพ้, โรค SLE หรือคนที่กินยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร อาจจะมีส่วนประกอบของสาร สเตียรอยด์ (steroid) ได้ค่ะ
3. อุบัติเหตุทางตา
4. แสงยูวี
ผลแทรกซ้อน
จริงๆแล้วโรคต้อกระจก เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป น้อยครั้งที่จะมีผลแทรกซ้อนอะไรค่ะ แต่มีภาวะหนึ่งที่อันตรายมาก คือ ภาวะต้อหิน ที่เกิดจากเลนส์ตาสุกเต็มที่แล้วมันบวมค่ะ จนปิดทางระบายน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาระบายไม่ได้ เกิดอาการปวดตาขึ้นเฉียบพลันได้ ซึ่งจะพบในผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกมานานจนสุกแล้วค่ะ ดังภาพข้างล่าง
โรคนี้เรียกว่า “Phacomorphic Glaucoma” หรือ ต้อหินจากต้อกระจกที่บวมเปล่งค่ะ จะเห็นว่าคนไข้จะมีอาการปวดตา ตาแดง เฉียบพลันและส่องไฟจะเห็นเลยว่า ตาดำจะขาวผิดปกติค่ะ เวลาปวดในกรณีนี้ ยาอะไรก็เอาไม่อยู่นะคะ
การรักษาต้อกระจก
ต้อกระจกมีวิธีการรักษาเดียว คือ การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันทั่วโลก
วิธีที่นิยมมากที่สุด คือ การทำ “Phacoemulcification หรือ เฟโกอีมัลซิฟิเคชั่น” คือ การใช้เครื่องเสียงความถี่สูง เข้าไปสลายเลนส์ตาเก่าให้มีขนาดเล็ก แล้วใส่เลนส์ตาใหม่เข้าไป
การผ่าตัดสลายต้อกระจก วิธีเป็นการผ่าตัดแผลเล็กมากขนาด 3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล ซึ่งการผ่าตัดเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 10-30 นาที แล้วแต่ประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด และความยากของเคส นอกจากนี้การใส่เลนส์ตาเทียมใหม่ จะสามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียง หรือ สายตามองใกล้ผิดปกติได้ด้วย
ชนิดของเลนส์ตาเทียม
- Monofocal IOL เป็นเลนส์ตาเทียม ชนิดมองไกลได้ระยะเดียว สามารถแก้ไข สายตาสั้น ยาว ที่มีอยู่เดิมก่อนผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นเลนส์ตาเทียมที่นิยมใช้มากใน รพ.ทั่วไปในประเทศไทย
- Toric IOL เป็นเลนส์ตาเทียมที่แก้ไขสายตาเอียง
- Multifocal IOL เป็นเลนส์ตาเทียมที่มองได้หลายระยะ นิยมใช้ในต่างประเทศและโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย
ทั้งนี้การจะเลือกใช้เลนส์ตาเทียมแบบไหนนั้น ต้องอาศัยการปรึกษากับคุณหมอที่จะผ่าตัด เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงได้แก่ สภาพตา อาชีพ ชีวิตประจำวัน เพราะเลนส์ที่ใส่เข้าไปนั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันค่ะ
ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียม
การผ่าต้อกระจก เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย โดยผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้แก่ การมีเลือดออกในลูกตาและหรือเบ้าตาจากการฉีดยาชา กระจกตาขุ่นมัวจากเซลล์ตาไม่แข็งแรง การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ปวดตา แสงจ้า การเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาเทียม
ในกรณีที่พบความรุนแรงยิ่งขึ้น คือ มีการสูญเสียดวงตาและการมองเห็นซึ่งภาวะที่กล่าวมาพบได้น้อยมาก และอาจเกิดในระยะเป็น วัน สัปดาห์ เดือน หรือหลายปี หลังการผ่าตัดและขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วย
การมองเห็นหลังผ่าตัด ยังขึ้นอยู่กับภาวะของจอประสาทของผู้ป่วยอีก ในบางรายอาจได้รับการรักษาหรือผ่าตัดเพิ่มเติม รวมถึงการยิงเลเซอร์เพื่อช่วยในการมองเห็น
บทความโดย : พญ.พรรักษ์ ศรีพล จักษุแพทย์
โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
หรือ คลิกที่นี่เพื่อ Add Line ของเรา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกตรวจสุขภาพ
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 07.00 - 16.00 น.
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4501