การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก
การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางการระบาดของเชื้อโอมิครอน และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น ทั้งยังสร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะยังพบได้ไม่บ่อยตามอัตราส่วนติดเชื้อ นอกจากนี้ยังเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงเรียน และผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่มีเด็กในครอบครัวต้องมีความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของโรคมากขึ้น เรามาทำความเข้าใจกับโรคโควิด-19 ในเด็กกันให้มากขึ้นกันนะคะ
โควิดในเด็กพบได้บ่อยแค่ไหน ?
รายงานการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2565 นับตั้งแต่การระบาดของโอมิครอน มีรายงาน ผู้ป่วยเด็กเกือบ 4.5 ล้านรายในสหรัฐในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์แรกของปี โดยช่วงพีกที่สุดคือ 1.15 ล้านรายในช่วงวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมาและยังอยู่ในระดับสูงมากมาจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสูงกว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในปี 2564 ซึ่งส่งผลให้การรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นด้วย
การติดเชื้อโอมิครอนในเด็กร้ายแรงแค่ไหน ?
โควิดยังคงเป็นโรคที่ไม่รุนแรงในเด็กส่วนใหญ่ และยังไม่มีหลักฐานว่าโอมิครอนจะเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายลงได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และในผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
เราจะป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ในเด็กได้อย่างไรบ้าง ?
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ยกเว้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือหากเห็นว่ามือสกปรกก็ควรล้างด้วยน้ำกับสบู่เป็นระยะเวลา 20 วินาที
- เวลาไอ จาม ควรใช้ทิชชูปิดปากและจมูก หลังจากนั้นนำไปทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด ถ้าไม่มีทิชชูให้ใช้ข้อศอกและต้นแขนด้านในแทน หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาด
- เว้นระยะห่างทางสังคม อย่างน้อย 1-2 เมตร
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปาก หากยังไม่ได้ล้างมือ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับคนที่มีอาการป่วย
- งดหอมแก้มหรือสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กโดยไม่จำเป็น
- แม้น้องจะเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ก็ควรป้องการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
กรณีที่มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าลูกหรือเด็กในบ้านติดเชื้อโควิด -19
อาจจะสามารถแบ่งได้เป็นหลายกรณี
- กรณีที่ 1 เด็กติดเชื้อและผู้ปกครองติดเชื้อ สามารถเข้ารับการรักษาโดยเน้นจัดอยู่เป็นครอบครัว ไม่ควรแยกเด็กเล็กออกจากผู้ปกครอง
- กรณีที่ 2 เด็กติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel โดยเด็กจะต้องถูกส่งตัวไปรักษาและกักตัวที่โรงพยาบาลหรือ Hospitel อย่างน้อย 14 วัน ซึ่งการกักตัวสำหรับเด็กมีความซับซ้อนกว่าเคสของผู้ใหญ่ในเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องแยกห่างจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แพทย์แนะนำว่า เมื่อเด็กต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลควรมีคนเฝ้า เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเคว้งคว้าง โดยผู้เฝ้าต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว
- กรณีที่ 3 เด็กไม่ติดเชื้อ แต่ผู้ปกครองติดเชื้อ ควรให้ญาติที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้ดูแลเด็ก หากไม่มีผู้ดูแลควรส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงเป็นการชั่วคราว
- กรณีที่ 4 เกิดการระบาดเป็นกลุ่มในโรงเรียน หรือในเนิร์สเซอรี่ พิจารณาใช้พื้นที่เนิร์สเซอรี่เป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยดูจากความพร้อมของสถานที่และบุคลากรตามความเหมาะสม
สำหรับเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการและบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน ได้แก่
- ปรอทวัดไข้
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้
- ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่
โดยสังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยแย่งระดับอาการของเด็ก ออกเป็น 2 ระดับ
- ระดับที่ 1 คือ อาการที่ยังสามารถสังเกตอาการของเด็กที่บ้านต่อไปได้ ได้แก่ มีไข้ต่ำ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ถ่ายเหลว ยังคงกินอาหารหรือนมได้ตามปกติ ไม่ซึม
- ระดับที่ 2 คือ ระดับที่ผู้ปกครองควรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำเด็กไปส่งโรงพยาบาล คือ ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ ใช้แรงในการหายใจมาก อกบุ๋ม ปีกจมูกบานตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร
การรักษาโรค COVID-19
ไม่ใช่คนไข้โรค COVID-19 ทุกคนที่จะมีอาการรุนแรง เราพบว่า 80% ของผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา อาการไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ตามอาการ เช่น
- เมื่อมีไข้ ทานยาลดไข้ เช็ดตัว ระวังไม่ให้ไข้สูงและชัก
- เมื่อมีอาการไอ ทานยาแก้ไขละลายเสมหะ ลมน้ำมูก
- ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจะต้องให้ออกซิเจนในการช่วยเหลือ พ่นยาละลายเสมหะเมื่อจำเป็น
ถึงแม้โควิดยังคงเป็นโรคที่ไม่รุนแรงในเด็กส่วนใหญ่ และจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เรามีการรักษาจำเพาะของโรค COVID-19 คือการให้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านไวรัส โดยจะพิจารณาสูตรการรักษาตามความรุนแรงของอาการ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองที่มีเด็กในครอบครัวต้องมีความรู้ และความเข้าใจในเรื่องของโรคมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการติดโควิด-19 ในเด็กกันนะคะ