โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่าโรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และนอกจากนั้นอาการปวดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ยังอาจเป็นอาการแสดงของโรคอื่นที่มีความรุนแรงมากกว่า เช่นโรคแผลกระเพาะอาหาร,โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้ด้วย
อาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบเป็นอย่างไร ?
- อาการปวดจุกแน่น หรือแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ โดยในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะโรคหัวใจขาดเลือดซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกันด้วย
- อิ่มเร็วอืดแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร
- อาจมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วยได้
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร(H.Pylori), การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์(NSAIDs),หรือยาแอสไพริน(aspirin),การดื่มสุรา, การสูบบุหรี่, ความเครียด หรือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
ควรทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าตนเองมีอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลี่กเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา, งดสุรา บุหรี่หรือยาที่อาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ
- ในกรณีที่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจ หรืออาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำว่าควรมารับการตรวจกับแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆที่อาจมีอาการใกล้เคียงกันเช่นโรคหัวใจขาดเลือด
- การรักษาด้วยยา โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านการหลั่งกรด(Proton Pump inhibitors,PPI) ร่วมกับยารักษาตามอาการอื่นๆ เพื่อรักษาอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy, EGD) ในรายที่มีขอบ่งชี้แพทย์อาจพิจารณแนะนำการส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยประเมินความรุนแรง,การตรวจเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร(H.Pylori) รวมทั้งช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆในกระเพาะอาหารที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (EGD)
- ผู้ป่วยที่มีเริ่มมีอาการโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หลังจากอายุ50ปี
- ผู้ป่วยที่มีอาการเตือน ได้แก่ น้ำหนักตัวลดเยอะ, อาเจียนรุนแรงต่อเนื่อง,มีอาการกลืนเจ็บกลืนลำบาก,มีอาการเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน
- ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยยาต้านกรด(PPI)
จะเห็นได้ว่าแม้ภาวะโรคกระเพาะอาหารอักเสบโดยตัวเองนั้นจะไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงเฉียบพลัน แต่ก็อาจซ่อนไว้ด้วยโรคอื่นๆที่อาจมีความรุนแรงและมีอาการคล้ายคลึงกัน ในท่านใดที่อาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานยา ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์โดยละเอียดครับ