เจ็บปวดข้อเข่า ข้อสะโพก สัญญาณเสี่ยง โรคกระดูกอ่อนเสื่อม
โรคกระดูกอ่อนเสื่อม (osteoarthritis) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ข้อเสื่อม” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น เกิดจากการที่กระดูกอ่อนซึ่งอยู่ปลายกระดูกในข้อเสื่อม ซึ่งการเสื่อมนี้ส่งผลให้มีการแตกกร่อนของกระดูกอ่อนซึ่งจะนำไปสู่อาการข้อฝืดซึ่งสร้างความเจ็บปวดบริเวณข้อต่อตามอวัยวะร่างกายได้
โรคกระดูกอ่อนเสื่อม มีอาการที่สังเกตได้อย่างไร?
โดยมาก อาการของโรคกระดูกอ่อนเสื่อมมักเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานข้อมาก ๆ หลังจากที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน การเคลื่อนไหวของข้อจะเกิดการฝืดหรือเจ็บทำให้ขยับได้ลำบากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การขาดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานานมีผลให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อต่ออ่อนแรงอีกด้วย โดยข้อต่อแต่ละส่วนก็มีอาการแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- อาการของข้อกระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกเสื่อม
มีอาการปวดบริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านใน หรือบริเวณด้านนอกของสะโพกในขณะยืนหรือเดิน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงมาถึงบริเวณเข่าร่วมด้วย จนอาจทำให้มีปัญหาในการเดินได้
- อาการของข้อกระดูกอ่อนบริเวณเข่าเสื่อม
อาจมีอาการปวดบริเวณเข่าหรือลูกสะบ้าขณะยืน เดิน หรือขณะขึ้นลงบันได โดยผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงในขณะเดินหรือเคลื่อนไหวหัวเข่า ยิ่งไปกว่านั้น หากมีอาการปวดแล้วมีการเคลื่อนไหวน้อยลง อาจมีผลต่อเนื่องให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อลีบลงได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา
- อาการของข้อกระดูกอ่อนบริเวณนิ้วมือเสื่อม
อาจมีอาการนิ้วมือเจ็บและบวม โดยอาจเกิดขึ้นที่บริเวณข้อปลายนิ้วมือทำให้ข้อปูดเป็นตุ่มขึ้นมา หรือเกิดที่บริเวณข้อกลางนิ้ว โดยอาจมีอาการบวมแดงและอักเสบร่วมได้ อย่างไรก็ตาม แม้มีอาการดังกล่าว การทำงานของข้อนิ้วมือโดยทั่วไปจะยังคงเป็นปกติอยู่
- อาการของข้อกระดูกอ่อนบริเวณนิ้วเท้าเสื่อม
อาการมักพบบ่อยที่บริเวณนิ้วหัวแม่เท้า ทำให้มีอาการปวดและเจ็บ และอาจแย่ลงหากใส่รองเท้าที่คับเกินไป หรือส้นสูง
- อาการของข้อกระดูกอ่อนบริเวณกระดูกสันหลังเสื่อม
อาจมีอาการฝืดแข็งและเจ็บปวดข้อบริเวณคอ ซึ่งอาจร้าวมาถึงบริเวณหัวไหล่หรือแขนได้ ถ้าอาการฝืดเกิดขึ้นบริเวณหลังอาจทำให้มีอาการปวดร้าวลงมาสู่สะโพกและขาได้ หากรุนแรง อาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงของนิ้วมือ แขน หรือขาร่วม อีกด้วย
โรคกระดูกอ่อนเสื่อม เกิดจากอะไร?
กระดูกอ่อนทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำหรือกันชน ช่วยลดการเสียดสีของกระดูกในขณะที่ข้อมีการเคลื่อนไหว โดยผู้ป่วยส่วนมากมักได้รับการวินิจฉัยพบว่ากระดูกอ่อนมีปริมาณน้ำลดลง เสื่อม และผุกร่อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเจ็บ สภาวะหลาย ๆ อย่าง สามารถนำไปสู่การเกิดโรคกระดูกอ่อนเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น ความอ้วน อุบัติเหตุบริเวณข้อ กล้ามเนื้อรอบข้ออ่อนแรง เส้นประสาทรอบข้อสูญเสียความสามารถในการรับความรู้สึก หรือเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อหุ้มข้อ เป็นต้น โดยส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม
การป้องกันและรักษาโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม
วิธีการป้องกันการเกิดโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อมสามารถทำได้โดยเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค เช่น ควบคุมน้ำหนักร่างกายและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อต่าง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บ หรือสัญญาณต่าง ๆ ว่ามีภาวะโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อมแล้ว สามารถรักษาเพื่อให้มีอาการเจ็บน้อยลง และเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยใช้แผนกายภาพประกอบกับการใช้ยา ซึ่งทำได้โดย ทำกายภาพบำบัดอวัยวะส่วนที่ข้อกระดูกอ่อนเสื่อม ควบคุมน้ำหนัก ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับสุขภาพและโรคประจำตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เนื่องจากอาจมีผลต่อการเลือกชนิดยาและวิธีการทำกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ และการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอาชีพของผู้ป่วยก็มีความสำคัญในการวางแผนการรักษาของผู้ป่วย ทั้งนี้ อาจมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นวิธีการรักษาทางเลือกหากอาการของโรคเริ่มรุนแรง