คุณแม่มือใหม่ กับการตรวจคัดกรองเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
19 เมษายน 2566
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถพบได้ 3-14% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งจากรกขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ต้านอินซูลิน จึงทำให้คนที่ตั้งครรภ์มีน้ำตาลสูงมากกว่าคนปกติ
ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน, มีประวัติคลอดเด็กน้ำหนักมาก, มีประวัติคลอดเด็กเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ, เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ครั้งก่อน, หญิงที่ตั้งครรภ์ช่วงอายุมาก หรือ มีน้ำหนักมากตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
การคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ในคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ทุกราย จะได้รับการตรวจคัดกรองที่อายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์ โดยการตรวจคัดกรองด้วย 50g GCT คือ ให้คุณแม่รับประทานน้ำตาลกลูโคสขนาด 50 กรัม โดยไม่ต้องงดน้ำ-งดอาหาร และทำการเจาะเลือด เพื่อดูค่าน้ำตาลที่ 1 ชั่วโมง หลังรับประทาน
หากผลน้ำตาลสูงผิดปกติ จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อไป โดยการตรวจวินิจฉัยด้วย 100g OGTT โดยทำการเจาะเลือดขณะอดอาหาร และหลังให้รับประทานกลูโคส 100 กรัม ที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ (รวมเจาะเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง)
หากผลพบความผิดปกติ มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ค่า คุณแม่จะได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และทำการรักษาควบคู่กับการฝากครรภ์ต่อไป
ผลของโรคเบาหวานต่อการตั้งครรภ์ และการคลอด
-
โอกาสการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น
-
น้ำคร่ำปริมาณมากกว่าปกติ
-
อัตราการผ่าตัดคลอด อาจเพิ่มขึ้น
-
ภาวะความดันโลหิตสูง เนื่องจากการตั้งครรภ์สูงขึ้นประมาณ 4 เท่า และครรภ์เป็นพิษ
-
ติดเชื้อได้ง่ายพบได้ถึงร้อยละ 80 รวมถึงแผลผ่าตัดติดเชื้อหลังคลอด
-
อัตราการตายของมารดา เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในรายที่เป็นเบาหวานรุนแรง และควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี
-
อัตราการตกเลือดหลังคลอดเพิ่มขึ้น
-
โอกาสเป็นโรคเบาหวานเรื้อรังเพิ่มขึ้น
-
เบาหวานขึ้นตา ทำให้การมองเห็นผิดปกติ
-
เบาหวานลงไต ทำให้ไตเสื่อมสภาพ
-
ปัญหาอื่นๆที่พบได้ เช่น การคลอดยาก คลอดติดขัด แผลขนาดใหญ่กว่าปกติ และอันตรายต่อช่องทางคลอด เนื่องจากทารกตัวใหญ่กว่าปกติ
ผลของโรคเบาหวานต่อทารกในครรภ์ และทารกแรกคลอด
-
ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ โดยไม่ทราบสาเหตุ
-
ทารกอาจเกิดภาวะการหายใจผิดปกติ ขาดออกซิเจน หายใจเหนื่อยกว่าปกติ
-
เพิ่มอัตราการเข้ารักษาในห้อง ICU ทารกแรกเกิด หรือต้องสังเกตอาการใกล้ชิด รวมถึงการใส่ท่อช่วยหายใจในเด็กแรกเกิด
-
ทารกพิการโดยกำเนิด ความผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ผนังห้องหัวใจรั่ว หรือส่งผลต่อระบบประสาทและกระดูกสันหลังของเด็กในครรภ์
-
ทารกโตช้าในครรภ์ ในมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่มีภาวะแทรกซ้อนของระบบหลอดเลือด
-
การติดเชื้อของทารกเพิ่มขึ้นช่วงหลังคลอด
-
เด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดโรคเบาหวาน ร้อยละ 1 - 3 และถ้าบิดาและมารดาเป็นเบาหวาน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20
การดูแลรักษาคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความสำคัญอย่างมาก อยู่ที่การประเมินความเสี่ยง และให้การดูแลควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
หากคุณแม่เข้ารับการฝากครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาสแรก ทางสูตินรีแพทย์ จะมีการให้คำปรึกษา การพิจารณาความเสี่ยง และส่งตรวจคัดกรองหาโรค เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม