หกล้มในผู้ใหญ่
เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ หรือคนสูงวัย ยิ่งต้องควรระวัง รวมถึงครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด ก็ต้องคอยดูแลบริเวณที่อยู่อาศัย และสุขอนามัยต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย เพื่อสุขภาพกายที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว สำหรับอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่สามารถพบกับผู้สูงวัย ได้แก่ การลื่นหกล้ม ก้าวไม่ระวัง ตกบันได พื้นที่ต่างระดับ ฯลฯ
ระดับของอุบัติเหตุ ได้แก่
- บาดเจ็บเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ
- บาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกส่วนต่าง ๆ หัก ซึ่งผู้ใกล้ชิด ควรรีบประเมินอาการและหากรุนแรงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การบาดเจ็บที่ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทำให้หลอดเลือดต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมโทรม เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
- เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตกเฉียบพลัน ภาวะที่มีการอุดกลั้นหรือการแตกของเส้นเลือดในสมอง ควรรีบติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุด เพื่อส่งต่อทำการรักษาต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงการล้มในผู้สูงอายุ
การหกล้มในผู้สูงวัย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประการ คือ
- ด้านร่างกาย จากสภาพจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสื่อมถอยของวัย และกล้ามเนื้อเสื่อมถอย ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ด้านสิ่งแวดล้อม จากการจัดบริเวณบ้าน และพื้นที่ใช้สอยที่ไม่เป็นระเบียบ เช่น การวางสิ่งของเกะกะ กีดขวางทางเดิน พื้นลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
การดูแลและใส่ใจรายละเอียด ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการผลัดตก หกล้มได้
โดยการประเมินผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านร่างกาย และ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือให้ท่านใช้ชีวิตได้สะดวก และป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
เริ่มแรก ผู้สูงอายุควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และรู้สถานะ ความเสี่ยงสุขภาพของตนเอง โดยการตรวจคัดกรองตามแพทย์นัด หากมีโรคประจำตัว และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาความเสื่อมถอยของระบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายและเพื่อการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง
ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ เช่น
- ด้านสุขภาพ เช่น การฝึกเดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว ฝึกการทรงตัว ที่ถูกต้อง รวมถึงการเลือกและสวมรองเท้าที่เหมาะสม หากต้องมีการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) ไม้เท้า หรือ นั่งวีลแชร์ จะได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่เฉพาะทางกายภาพ และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ฯลฯ
- ด้านโภชนาการ เช่น การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือ เมื่อต้องใช้ยา หรือมีโรคประจำตัว ควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมอาการของโรคให้คงที่ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลอาการ
- ด้านพฤติกรรม เช่น การเปลี่ยนอิริยาบท ได้แก่ ค่อย ๆ ลุกยืนอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตก ในท่ายืนหรือหน้ามืด การหาราวสำหรับเกาะเดิน เพื่อป้องกันการเซหรือล้ม
- ด้านการใช้ยา เช่น ผู้สูงอายุควรประเมินการใช้ยา หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินไป การได้รับยาหลายชนิดอาจส่งผลให้เกิดการมึน ซึม เสี่ยงต่อการผลัดตกหกล้มได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อเปลี่ยนยาให้เหมาะสม
- ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเข้าห้องน้ำ หรือการปรับภูมิทัศน์ภายในบ้าน ควรมีวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ เก็บของให้เป็นระเบียบ ไม่วางของระเกะระกะ เพิ่มแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะตรงราวบันได หรือไฟทางเดินต่าง ๆ
- ห้องนอน ควรใช้เตียง ที่มีความสูงระดับข้อพับเข่า เพื่อให้การลุก นั่ง นอนสะดวก ไม่ล้มเซง่าย และป้องกันผลัด ตกเตียง
- ห้องน้ำควรกันแยกพื้นที่ ระหว่างพื้นที่เปียกและแห้ง เพื่อป้องกันการลื่นล้ม และมีอุปกรณ์กันลื่นหรือมือจับ หรือ เก้าอี้นั่งอาบน้ำ เพื่อความปลอดภัย จุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน เลี่ยงธรณีประตู การก้าวขึ้นลง
- ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง การขึ้นบันได ควรจัดพื้นที่ชั้นล่างสำหรับอยู่อาศัย เพื่อหลีกเลี่ยงบันได และการเดินขึ้นลงที่ง่าย
- อุปกรณ์ เครื่องเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องแข็งแรงมั่นคง เลี่ยงชนิดเก้าอี้ล้อหมุนหรือเลื่อนได้ ต้องจัดทิศทางและตั้งวางให้เหมาะมองเห็นง่าย และไม่ย้ายที่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการหลงลืม ลุกนั่งโดยไม่ระวัง
- ด้านการเดินและออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เช่น ท่ายืนเขย่งปลายเท้า สลับยืนบนส้นเท้า การลุกนั่ง แกว่งแขนแบบง่าย ๆ การฝึกหายใจเพื่อบริหารปอด และเน้นฝึกการทรงตัว และการเคลื่อนไหว
- การออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อความเหมาะสมในระหว่างการออกกำลังกาย และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้สูงวัยแต่ละบุคคล รวมถึงโรคประจำตัว
การหกล้มในผู้ใหญ่ เป็นปัญหาสำคัญในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ที่ดูแลใกล้ชิด ควรตระหนักถึงอันตราย และให้การป้องกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวได้
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
หรือ คลิกที่นี่เพื่อ Add Line ของเรา