โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทันป้องกัน อัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย! โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ปีละกว่า 30,000 คน นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัยอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ใกล้ตัวเรามากทีเดียวเลยค่ะ
โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน แตก หรือฉีกขาด ซึ่งขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงักลง จนเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองมีกี่ประเภท ?
ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke)
เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยสามารถพบได้กว่า 80% ซึ่งความผิดปกติประเภทนี้อาจเกิดจาก 2 ลักษณะ ได้แก่
- การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบหินปูน ไขมัน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นใน ทำให้ผนังหลอดเลือดในตำแหน่งนี้หนาขึ้น แต่ในทางกลับกันรูของหลอดเลือดก็จะตีบหรือแคบลงไปด้วย อีกทั้งยังขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
- การอุดตันของลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดสมองและขยายใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง หรือการอุดตันของลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นแล้วไหลตามกระแสเลือดจนมาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
ซึ่งการเกิดอุบัติการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ส่งผลให้เกิด “ภาวะสมองขาดเลือด” นั่นเอง
-
หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)
สามารถพบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง โดยเกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง โป่งพอง ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นแตกออก เกิด “ภาวะเลือดออกในสมอง” ส่งผลให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บจากการมีเลือดคั่งในสมอง หรือแม้แต่ทำให้เนื้อสมองตาย แม้อุบัติการณ์นี้จะมีโอกาสพบได้น้อยกว่า แต่ถือว่ามีความอันตรายเป็นอย่างมาก โดยอาจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็วได้
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
- ขาหรืออ่อนแรงตามใบหน้าหรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกายอย่างฉับพลัน
- มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด น้ำลายไหล กลืนลำบาก
- เดินเซ ทรงตัวลำบาก สูญเสียการทรงตัว
- มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นภาพครึ่งเดียว หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงฉับพลัน
หรือสามารถสังเกตได้ตามหลักการ F.A.S.T
F : Face หรือใบหน้า ให้ยิงฟันหรือยิ้ม แล้วสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่
A : Arm หรือแขน ให้ยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น เป็นเวลา 10 วินาที แล้วสังเกตว่ามีแขนข้างใดข้างหนึ่งตกหรือยกไม่ขึ้นหรือไม่
S : Speech หรือการพูด ให้ลองพูดประโยคง่าย ๆ ซ้ำ ๆ แล้วสังเกตว่ามีการพูดไม่ชัดหรือออกเสียงเพี้ยนหรือไม่
T : Time หรือเวลา หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
-
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- อายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น เพราะเกิดความเสื่อมสภาพของหลอดเลือด
- เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
-
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- ความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง
- การขาดการออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การใช้สารเสพติด
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง
สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)
-
ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
การตรวจ CT Scan จะช่วยวินิจฉัยแยกภาวะสมองขาดเลือดกับภาวะเลือดออกในสมองได้ โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจน้อยกว่า MRI Scan ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วกว่า
-
ข้อดีของการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)
การตรวจ MRI Scan จะมีความไวต่อการตรวจวินิจฉัยหาภาวะสมองขาดเลือดได้ในระยะแรก ๆ มากกว่าการทำ CT Scan อย่างไรก็ตาม MRI Scan สามารถวินิจฉัยแยกภาวะสมองขาดเลือดกับภาวะเลือดออกในสมองได้เช่นเดียวกัน
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา