โรคหลอดเลือดสมอง สโตรก สาเหตุอัมพฤกษ์อัมพาตและวิธีป้องกัน
โรคหลอดเลือดสมอง (สโตรก): สาเหตุอัมพฤกษ์อัมพาตและการป้องกันที่คุณต้องรู้ เเละเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต และทุพพลภาพ
จากสถิติในประเทศไทยในรายงานปี 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองกว่า 34,728 คน
(อ้างอิง: กรมควบคุมโรค, 28 ตุลาคม 64)
โรคหลอดเลือดสมอง โรคสโตรก คืออะไร ?
ภาวะสมองขาดเลือดอันเกิดจากการที่หลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้ เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย และเป็นเหตุให้ การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่:
-
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke):
ถือเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ (80%) ของการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่ (1) ลิ่มเลือดจากบริเวณอื่นไหลมาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง (2) ลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองจนอุดตัน หรือ (3) หลอดเลือดตีบจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพการลำเลียงเลือดลดลง -
หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke):
เกิดจากการที่ (1) หลอดเลือดเปราะบางร่วมกับการมีภาวะความดันโลหิตสูง หรืออาจเกิดจาก (2) หลอดเลือดสมองสูญเสียความยืดหยุ่นอันเนื่องจากการสะสมของไขมัน ทำให้หลอดเลือดแตกได้ ซึ่งภาวะนี้อันตรายและส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร ?
ปัจจัยของโรคหลอดเลือดสมองอาจแตกต่างกันไปตามรายบุคคล โดยอาจเกิดจาก
- ปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น การเสื่อมของหลอดเลือดจากการมีอายุที่มากขึ้น การแข็งตัวของเลือดที่เร็วกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งเพศทางชีวภาพ โดยพบว่า เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเพศหญิง
- ปัจจัยที่สามารถป้องกันได้ อย่างเช่น โรคและภาวะต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ตลอดจนวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล อย่างเช่น การสูบบุหรี่ หรือการขาดการออกกำลังกาย
สัญญาณเตือนของโรคเลือดสมองเป็นอย่างไร?
เมื่อสมองเกิดภาวะขาดเลือด จะส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการต่าง ๆ ได้ ไม่มากก็น้อย โดยจะขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของเนื้อสมองที่ถูกทำลาย โดยอาการเบื้องต้นที่เราสามารถสังเกตได้ ได้แก่ สูญเสียการทรงตัว มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ ใบหน้าอ่อนแรง มีอาการชา หรือปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด พูดลำบาก เป็นต้น โดยอาการเตือนเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ไขมันส่วนเกินจะสะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและแข็งตัว
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพและเกิดการอุดตันได้ง่าย
- การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ นิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์จากบุหรี่ลดปริมาณออกซิเจนในเลือดและทำลายผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือด
- ครอบครัวที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง ประวัติครอบครัวเป็นปัจจัยทางพันธุกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
- ผู้สูงอายุ อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพและแข็งตัวตามธรรมชาติ
สามารถรักษาและฟื้นฟูจากโรคสโตรกได้อย่างไร?
วิธีการรักษาในคนไข้แต่ละรายอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยหากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ และหากหลอดเลือดสมองแตก เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต หรืออาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นกรณีมีเลือดออกมาก
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองทำได้อย่างไร?
สามารถทำได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก เช่น:
- ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง และวางแผนดูแลสุขภาพแต่เนิ่น ๆ
- ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
- ควบคุมการรับประทานอาหาร เลี่ยงอาหารเค็ม หวาน หรือมันจัด
- งดหรือลดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา