การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ และบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ หากต้องเผชิญสถานการณ์นั้นเพียงลำพัง หรือพบเจอผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแบบถูกต้อง นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ
การปฐมพยาบาลบาดแผลถลอก
บาดแผลถลอกหมายถึงการเป็นบาดแผลที่เกิดจากการถูกขีดข่วน ถูกถูหรือถูกครูด บาดแผลชนิดนี้จะตื้นเพียงแค่ผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น และมีเลือดออกเล็กน้อย อันตรายของบาดแผลอยู่ที่การติดเชื้อ บาดแผลถลอกที่พบได้เสมอ คือ การหกล้ม เข่าถลอก ดังนั้นเมื่อเกิดบาดแผลขึ้นต้องรีบปฐมพยาบาล เพื่อลดอาการเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
อุปกรณ์
- ชุดทำแผล ได้แก่ ปากคีบ ถ้วยใส่สารละลาย สำลี ผ้าก๊อส และพาสเตอร์ปิดแผล
- สารละลาย ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อ และ น้ำเกลือล้างแผล
- แอลกอฮอล์ 70
- เบตาดีน หรือ โปรวิดี ไอโอดีน
* ท่านสามารถซื้อชุดทำแผลดังกล่าว ได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้ชำระล้างบาดแผลด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ถ้ามีเศษหิน ขี้ผง ทราย อยู่ในบาดแผลให้ใช้น้ำสะอาดล้างออกให้หมด
- ใช้ปากคีบสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% พอหมาด ๆ เช็ดรอบ ๆ บาดแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรครอบ ๆ (ไม่ควรเช็ดลงบาดแผลโดยตรง เพราะจะทำให้ เจ็บแสบมาก เนื่องจากยังเป็นแผลสด)
- ใช้สำลีชุบเบตาดีนหรือโปรวิดี ไอโอดีน ใส่แผลสด ทาลงบาดแผล แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ต้องปิดบาดแผล ยกเว้นบาดแผลที่เท้าซึ่งควรปิด ด้วยผ้าก๊อซสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง
- ระวังอย่าให้บาดแผลถูกน้ำ
- ไม่ควรแกะหรือเกาบาดแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้ว เพราะทำให้เลือดไหลอีก สะเก็ดแผลเหล่านั้นจะแห้งและหลุดออกเอง
การปฐมพยาบาลบาดแผลฟกช้ำ
บาดแผลฟกช้ำหรือบาดแผลเปิด เป็นบาดแผลที่ไม่มีร่องรอยของผิวหนัง แต่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดบริเวณที่อยู่ใต้ผิวหนังส่วนนั้น มักเกิดจากแรงกระแทกของแข็งที่ไม่มีคม เช่น ถูกชน หกล้ม เป็นต้น ทำให้เห็นเป็นรอยฟกช้ำ บวมแดงหรือเขียว
อุปกรณ์
- น้ำเย็น
- ผ้าขนหนูผืนเล็ก
- ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วน
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้ประคบบริเวณนั้นด้วยความเย็น เพราะความเย็นจะช่วยให้เลือดใต้ผิวหนังบริเวณนั้นออกน้อยลง โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบหรือใช้ผ้า ห่อน้ำแข็งประคบเบา ๆ ก็ได้
- ถ้าบาดแผลฟกช้ำเกิดขึ้นกับอวัยวะที่ต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก
- ให้ใช้ผ้าพันแผลชนิดเป็นม้วนที่ยืดหยุ่นได้พันรอบข้อเหล่านั้นให้แน่นพอสมควร เพื่อช่วยให้อวัยวะที่มีบาดแผลอยู่นิ่ง ๆ และพยายามอย่างเคลื่อนไหวผ่านบริเวณนั้น รอยช้ำค่อย ๆ จางหายไปเอง
การปฐมพยาบาลบาดแผลถูกของมีคมบาด
บาดแผลแยกหรือบาดแผลเปิด เป็นบาดแผลที่เกิดจากการฉีกขาดของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากการถูกของมีคมบาด แทง กรีด หรือถูกวัตถุกระแทกแรงจนเกิดบาดแผล มองเห็นมีเลือดไหลออกมา
อุปกรณ์
- ชุดทำแผล ได้แก่ ปากคีบ ถ้วยใส่สารละลาย สำลี ผ้าก๊อส และพาสเตอร์ปิดแผล
- สารละลาย ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อ และ น้ำเกลือล้างแผล
- แอลกอฮอล์ 70%
- เบตาดีน หรือ โปรวิดี ไอโอดีน
* ท่านสามารถซื้อชุดทำแผลดังกล่าว ได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ใช้สำลีเช็ดเลือด และกดห้ามเลือด
- ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ แผล
- ใช้สำลีชุบเบตาดีน หรือ โปรวิดี ไอโอดีนใส่แผลสดทารอบ ๆ แผล
- ใช้ผ้าพันแผล หรือพลาสเตอร์ปิดแผล
- รีบน้ำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้กรณีบาดแผลรุนแรง
การปฐมพยาบาลบาดแผลกระดูกหัก
กระดูกหัก คือ การที่กระดูกแยกออกจากกัน ก่อให้เกิดความเจ็บปวด บวม เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ เนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น
ถูกรถชน หกล้ม ตกจากที่สูง หรือกระดูกเป็นโรคไม่แข็งแรงอยู่แล้ว กระดูกเปราะเมื่อถูกแรงกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยก็อาจหักได้
อุปกรณ์
- แผ่นไม้หรือหนังสือหนา ๆ
- ผ้าพันยึด
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- วางอวัยวะส่วนนั้นบนแผ่นไม้หรือหนังสือหนา ๆ
- ใช้ผ้าพันยึดไม้ให้เคลื่อนไหว
- ถ้าเป็นปลายแขนหรือมือใช้ผ้าคล้องคอ
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกแมลงกัดต่อย
แมลงหลายชนิดมีเหล็กใน เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เป็นต้น เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้ ภายในเหล็กในจะมีพิษของแมลงพวกนี้มักมีฤทธิ์ที่เป็นกรด บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง คันและปวด อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อย และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
อุปกรณ์
- อุปกรณ์ที่มีรูสามารถกดลงเพื่อเอาเหล็กในออกเช่น ลูกกุญแจ
- อุปกรณ์สะอาดสำหรับคีบเอาเหล็กในออก
- สำลีชุบแอมโมเนีย
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ใช้ลูกกุญแจที่มีรูกดตรงจุดที่ถูกต่อย แล้วใช้ที่หนีบคีบเอาเหล็กในออก
- กดหรือบีบบาดแผลไล่น้ำพิษออก
- ใช้สำลีชุมแอมโมเนียทาบริเวณแผล
- ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผล เพื่อระงับอาการปวดและช่วยลดการซึมซาบของพิษ
- สังเกตดูอาการ ถ้าไม่ดีขึ้นรีบพาไปพบแพทย์
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ดีกรีความลึกระดับ 1 คือ บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผิวหนังเป็นรอยแดง ไม่บวมพองน้ำ มีอาการแสบร้อนมาก นาน 24-72 ชั่วโมง อาการแสบร้อนจะทุเลาลง แผลชนิดนี้ไม่ติดเชื้อ สามารถโดนน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องทำแผล รอยแดงจะค่อย ๆ จางลงและไม่เป็นแผลเป็น
- ดีกรีความลึกระดับ 2 คือ บาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ ผิวหนังบวมพองน้ำ มีอาการแสบร้อน ควรทำแผลและปิดแผลป้องกันการติดเชื้อ แผลหายภายใน 7-10 วันและไม่เป็นแผลเป็น
- ดีกรีความลึกระดับ 3 คือ ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน เป็นแผลแดง มีอาการแสบร้อน ควรทำแผลด้วยครีมที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะและสารที่ช่วยเร่งการหายของแผล หากไม่มีภาวะติดเชื้อ แผลจะสร้างผิวหนังทดแทนภายในเวลา 14-28 วัน แล้วแต่ขนาดของแผล
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
- หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใสหรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
- หากมีแผลบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใด ๆ ก่อนถึงมือแพทย์
ข้อห้าม เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใด ๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะ ”ยาสีฟัน” “น้ำปลา” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น และไม่ควรเจาะตุ่มน้ำด้วยตนเอง
เลือดกำเดาไหล
สาเหตุ มาจากการกระทบกระแทก การเป็นหวัด การสั่งน้ำมูกการติดเชื้อในช่องจมูก หรือ ความหนาวเย็นของอากาศ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้ผู้ป่วยนั่งนิ่ง ๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
- ใช้มือบีบปลายจมูก และให้หายใจทางปากโดยบีบปลายจมูกไว้ 10 นาทีให้คลายมือออกถ้าเลือด ยังไหลต่อให้บีบต่ออีก 10 นาที ถ้าเลือดไม่หยุดใน 20 นาทีให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
- ถ้ามีเลือดออกมาก ให้ผู้ป่วยบ้วนเลือดหรือน้ำลายลงในอ่าง หรือภาชนะที่รองรับ
- เมื่อเลือดหยุดแล้ว ใช้ผ้าสะอาดเช็ดบริเวณจมูกและปาก
ข้อห้ามเมื่อเลือดกำเดาไหล
ห้ามสั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะ ขยี้จมูก เพราะจะทำให้อาการแย่ลง
ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง
ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง เกิดจากการเคลื่อนไหวผิดท่า ทำให้เกิดการหมุน พลิก บิด ของ ข้อเท้า เช่น เดินพลาด ตกหลุม เหยียบก้อนหินถูกกระแทก หรือของหล่นทับ มักมีอาการ ปวด บวม เจ็บ เคลื่อนไหวไม่ถนัดในผู้สูงอายุส่วนมากจะมีกระดูกบริเวณข้อเท้าหักร่วมด้วย
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ให้ข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บอยู่นิ่ง ๆ ห้ามเดิน
- ยกเท้าให้สูงเล็กน้อยเพื่อห้ามเลือดและลดบวม
- ประคบด้วยความเย็นทันทีนานอย่างน้อย 20 นาทีห้ามประคบด้วยความร้อนใน 24 ชั่วโมงแรก
- ยึดข้อเท้าให้นิ่งด้วยผ้ายืด ถ้าสวมรองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าที่ผูกด้วยเชือกให้คลายเชือกผูกรองเท้าแต่ไม่ต้องถอดรองเท้า
- ถ้าให้การปฐมพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
ข้อควรระวังเมื่อข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง
ถ้ามีอาการปวด และบวมมากขึ้น เดินไม่ได้แสดงว่ามีกระดูกหักร่วมด้วยให้ปฐมพยาบาลเหมือนข้อเท้าหัก แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
งูกัด
เมื่อถูกงูกัด จะรู้ว่างูนั้นมีพิษหรือไม่ ให้สังเกตที่รอยเขี้ยว ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว แต่ถ้าเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบ ๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และพยายามจำลักษณะหรือสายพันธุ์ของงูให้ได้ ไม่ต้องเสียเวลาจับซากงู หรืองูตัวนั้นไปให้แพทย์ดู
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้ายืดกระชับกล้ามเนื้อ ดามด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เช่นท่อนไม้ท่อ PVC หรือกระดาษม้วนให้แข็ง เช่นหากถูกกัดที่มือให้พันตั้งแต่บริเวณมือไปถึงข้อมือจนถึงข้อศอก แล้วใช้ผ้าสามเหลี่ยมคล้องไว้ที่คอหรือหน้าอก เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดเป็นต้น
- พยายามเคลื่อนไหวตัวผู้ป่วยให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการสูบฉีดของเลือด
ข้อห้ามเมื่อถูกงูกัด
- ห้ามดูดพิษจากบาดแผลงูกัด
- ห้ามใช้เซรุ่มด้วยตัวเอง ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องมีการประเมินว่าจำเป็นต้องฉีดเซรุ่มหรือไม่ และต้องใช้เซรุ่มประเภทไหน จากการใช้เซรุ่มมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย และอาจเกิดการแพ้เซรุ่มได้
- ห้ามใช้สมุนไพร หรือควรใช้ควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน และควรทำให้สะอาดที่สุด และไม่ควรเคี้ยวสมุนไพรมาใส่แผล เพราะในน้ำลายมนุษย์ มีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก อาจทำให้แผลติดเชื้อได้
- ห้ามดูดพิษงูจากแผล
- ห้ามกรีดแผลเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ห้ามใช้ไฟช๊อต หรือไฟเผา
- ส่วนการทายาสีฟัน แค่ทำให้เย็น ไม่มีสรรพคุณอะไรในการป้องกันพิษงู
สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายผงฝุ่นเข้าตา
วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- เปิดลูกตาเพื่อหาสิ่งแปลกปลอม
- ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด
- ถ้าฝุ่น ผง ติดที่ตาขาว ใช้ปลายผ้าสะอาดหรือปลายไม้พันสำลีเขี่ยเศษผงออก
- ถ้าฝุ่น ผง ติดแน่นหรือติดตาดำให้ปิดตาด้วยผ้าสะอาด
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
ข้อห้ามเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายผงฝุ่นเข้าตา
- ห้ามขยี้ตา เพราะจะทำให้ตาระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น
- ห้ามใช้ของมีคมหรือไม้เขี่ยเศษผงที่เข้าตา
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเมื่อพบผู้ป่วยกำลังต้องการความช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือผู้ให้การช่วยเหลือจำเป็นต้องมีสติ มีความรู้ และมีร่างกายที่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มิเช่นนั้นอาจเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยเจ็บให้อาการหนักยิ่งขึ้นได้ ถ้าหากต้องการความช่วยเหลือติดต่อแจ้งเหตุผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1669 หรือโทร: 02 0805999 โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายสถานพยาบาล และหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการการส่งต่อผู้บาดเจ็บผู้ป่วยฉุกเฉิน