โรคหัวใจ (Heart Disease)
โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย เนื่องจากคนมีพฤติกรรมเสี่ยงกันมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะอาการบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับหลายโรค ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ รวมถึงการป้องกัน เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั่นเอง
หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น
อาการของโรคหัวใจ
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน ทำให้โรคหัวใจมีอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด
- โรคหลอดเลือดหัวใจ มักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะ นั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อย ขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
- โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
- โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ อาการที่แสดงถึงโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ โดยมักจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขา หรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่น หรือจุดขึ้นตามผิวหนัง
สาเหตุของโรคหัวใจ
เช่นเดียวกันกับอาการ สาเหตุของโรคหัวใจแต่ละชนิดมีที่มาต่างกัน ดังนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุส่วนมากเกิดจากไขมัน หรือแคลเซียมที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลอดเลือดจนขัดขวางทางเดินเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง น้ำหนักเกิน และสูบบุหรี่
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายที่เดิมมีความผิดปกติของหัวใจอยู่แล้ว หรือเกิดกับคนทั่วไปที่มีหัวใจปกติก็ได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการถูกไฟฟ้าช็อต การใช้สารเสพติด ยา อาหารเสริมบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน นอกจากนี้อาจเป็นความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ มีสาเหตุต่างกันไปตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดสู่หัวใจน้อยลง การได้รับยา หรือสารพิษบางชนิด การติดเชื้อ และพันธุกรรม ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนามักเป็นผลจากพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น และโรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด ที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็ง และยืดหยุ่นน้อยลง อาจเป็นผลมาจากโรคอื่น เช่น เนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ ภาวะธาตุเหล็กมากเกิน หรือการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด เป็นต้น
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของมารดาที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด การใช้ยา หรือสารเสพติดบางชนิดขณะตั้งครรภ์ การติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งอาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็ได้
- โรคลิ้นหัวใจ สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือทำงานบกพร่องมาแต่กำเนิด หรือเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น ไข้รูมาติก เยื่อบุหัวใจอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ
- โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต รวมทั้งการทำหัตถการทางการแพทย์ การใช้สารเสพติด และมีการเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจตามมา
การรักษาโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจจะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ และรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นในขณะนั้น เช่น การทำหัตถการสวนหัวใจ การผ่าตัดหัวใจ ร่วมกับการใช้ยารักษา รวมถึงการให้คำแนะนำในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด และเพิ่มการออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการบริโภคโดยแนะนำให้ลดอาการเค็ม อาหารหวาน และอาหารที่มีไขมันสูง
โรคหัวใจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย หรือการเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมา จึงต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อาการเหล่านี้แสดงออกจากการเป็นโรคหัวใจหรือไม่ และต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด จะต้องพฤติกรรมการบริโภค และออกกำลังกายให้มากขึ้นเพื่อจะได้ห่างไกลจากโรคหัวใจนะคะ
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -15.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4601 หรือ 092 131 6465