ปวดหัวไมเกรน
หลายคนคงต้องประสบกับอาการปวดศีรษะที่เรียกว่า “ไมเกรน” ซึ่งเจ้าไมเกรนนี้ ถือเป็นอีก หนึ่งโรคที่เป็นอันตรายมากกว่าที่คิด เพราะอาการของโรคนี้อาจดูเหมือนไม่ได้ส่งผลรุนแรง เเต่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากทีเดียว
ไมเกรน คืออะไร ?
ไมเกรน (Migraine) เป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่งที่รบกวนชีวิตประจำวัน ลักษณะอาการที่สังเกตได้ คือ ปวดศีรษะแบบตุบ ๆ มักจะเกิดข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยโรคไมเกรนส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักถูกกระตุ้นให้กำเริบด้วยสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ทางอารมณ์ซึ่งนอกจากจะเป็นการรบกวนชีวิตประจำวันแล้วยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
อาการของโรคไมเกรนประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
- ปวดศีรษะข้างเดียว อาจป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือเป็นสลับข้างกันได้
- ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ๊บ ๆ ปวดแต่ละครั้งนานเป็นชั่วโมง (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรง อาจปวดนานเป็นวัน ๆ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อ ๆ สลับกับปวดตุ๊บ ๆ
- อาการปวดศีรษะมักรุนแรง ปวดมากจนต้องหยุดงานหรือส่งผลต่อประสิทธิภาพภาพการทำงาน
- ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการนำ เช่น อาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้น ๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำมาก่อน
- อาจจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้
อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์
หากอาการไมเกรนมีความรุนแรง มีอาการปวดหัวมากทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ทุเลา คลื่นไส้ และอาเจียน มีอาการปวดบ่อย ๆ เรื้อรัง หรือปวดหัวแต่ละครั้งเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ปัจจัยที่ทำให้โรคไมเกรนเป็นมากขึ้น ?
- ภาวะเครียด
- การอดนอน
- การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
- ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
- อาหารบางชนิดเช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต
- สภาพแวดล้อม เช่นอากาศร้อน
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไมเกรนจึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตตัวเองว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเกิดไมเกรนในตนเอง เพื่อจะหลีกเลี่ยงลดอาการกำเริบของไมเกรน
การรักษาโรคไมเกรน
- การรักษาการกำเริบ จะให้ยาแก้ปวดลดอักเสบเป็นหลักหรือยาที่ลดการขยายตัวของหลอดเลือด เช่น Ergotamine , Sumatriptan รวมไปถึงยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียนเป็นต้น ซึ่งยาแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ยาบางชนิดต้องสั่งโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา โดยควรรับประทานยาทันทีเมื่อเกิดอาการและไม่รับประทานยาแก้ปวดบ่อยจนเกินไป
- การรักษาป้องกันอาการไมเกรนกำเริบ แนะนำให้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบบ่อย ๆ หรืออาการปวดรุนแรงมากส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยยาป้องกันไมเกรนมีหลายชนิด และมีผลข้างเคียงแตกต่างกันแนะนำจำต้องไปตรวจรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกรักษาที่เหมาะสมที่สุด
ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรัง มีอาการปวดศีรษะครึ่งซีก อาจป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกันหรือเป็นสลับข้างกันได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงภาวะที่เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งหากมีอาการปวดศีรษะดังกล่าวควรได้รับคำแนะนำและวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรักษาอย่างถูกต้อง