Header

เช็กด่วน !! เจ็บคอ แบบนี้เกิดจากอะไร ?

blank โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

เช็กด่วน!! เจ็บคอแบบนี้เกิดจากอะไร? | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

หลาย ๆ คน คงต้องเคยมีอาการเจ็บคออย่างแน่นอน เพราะแค่อากาศเปลี่ยนหรือเป็นหวัดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะมีอาการนี้ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งปกติแล้วเมื่อหวัดหายร่างกายแข็งแรงขึ้น อาการเจ็บคอก็จะหายไปด้วย แต่ในบางคนกลับมีอาการเจ็บคอต่อเนื่องอีกเป็นอาทิตย์ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพของแต่ละคนด้วยค่ะ แต่อย่างไรก็ดี อาการเจ็บคอนั้น ก็ไม่ได้มีมาจากแค่สาเหตุการเป็นหวัดอย่างเดียวนะคะ แต่อาการนี้ยังบอกอะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับร่างกายของเราได้อีกมากมาย เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะ

อาการเจ็บคอ คืออะไร ?

อาการเจ็บคอ (Sore Throat) เป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่สร้างความเจ็บปวดหรือ แสบร้อนระคายเคืองเนื้อเยื่อในลำคอเกิดจากคออักเสบ (Pharyngitis) ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)  กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) หรือส่วนอื่น ๆ ในลำคอเกิดการอักเสบและระคายเคือง บางครั้งทำให้เกิดความลำบากในการกลืนอาหารและน้ำรวมถึงการเปล่งเสียงด้วย 


อาการเจ็บคอเกิดจากอะไร ?

อาการเจ็บคอมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการป่วยได้หลากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (Infectious cause) แต่ก็มีบางกรณีที่อาการเจ็บคอไม่ได้เกิดมาจากการติดเชื้อ (Non-infectious cause) ซึ่งต้นเหตุของอาการเจ็บคอที่พบบ่อยสามารถจำแนกได้  ดังนี้

1. การเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อ

1.1 การเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Viral sore throat) : เป็นอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด มีไวรัสต้นเหตุหลายตัวด้วยกัน เช่น

  • เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด เช่น Rhinovirus (ไวรัสไรโน), Adenovirus (ไวรัสอะดีโน)
  • เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 คือ Coronavirus (ไวรัสโคโรนา)
  • ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ คือ Influenza Type A Virus, Influenza Type B Virus
  • ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอสิส คือ Epstein-Barr Virus (ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์)
  • ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัด คือ Paramyxovirus (ไวรัสพารามิคโซ)
  • ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส คือ Varicella Virus (ไวรัสวาริเซลลา)
  • ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม คือ Herpes Simplex Virus (ไวรัสเฮอร์ปีส์)
  • ฯลฯ
1.2 การเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial sore throat) : ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Streptococcus, Haemophilus influenzae เป็นต้น ซึ่งจะเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อบุในลำคอและต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบและบวมแดงได้ มีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 3-14 ปี มากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoea) ต้นเหตุของโรคหนองใน และเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย (Chlamydia) ต้นเหตุโรคหนองในเทียม

1.3 การเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อก่อโรคอื่น ๆ เช่น เชื้อรา 

2. การเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Non-infectious cause) : อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในลำคอ หรือการใช้เสียงมากเกินไป รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอย่างอากาศแห้ง มลพิษในอากาศ การสูบบุหรี่ การสูดดมควันไฟ สารเคมี ก้างปลาติดคอ หรืออาการแพ้ และโรคบางอย่าง เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเนื้องอกในลำคอและกล่องเสียง เป็นต้น

 

อาการเจ็บคอเป็นอย่างไร ?

อาการเจ็บคอจะแสดงอาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันตามต้นเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจสร้างความลำบากในการเปล่งเสียงและรับประทานอาหารได้ โดยสามารถแบ่งอาการเจ็บคอตามสาเหตุได้ ดังนี้

  • การเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการเหมือนกับไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล เสียงแหบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว อาการเจ็บคอมีความรุนแรงน้อยจนถึงปานกลาง 
  • การเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักมีอาการรุนแรงกว่า มักมีไข้สูง เจ็บปวดเวลากลืน ต่อมทอนซิลบวมแดงหรือเป็นจุดหนองสีขาว คอแดง ลิ้นไก่บวมแดง มีเสมหะสีเขียวเหลือง อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต และเจ็บ
  • การเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจมีเพียงอาการแสบ หรือเจ็บคอตามสาเหตุ อาการอาจจะไม่รุนแรงมากนัก และมักจะไม่มีไข้ ไอ น้ำมูก แต่อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยแทน เช่น อาการจุกแน่น ลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีประวัติสิ่งแปลกปลอม หรือมีประวัติสูดดมสารเคมี/มลพิษ เป็นต้น


อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถรักษาอาการเจ็บคอที่บ้านได้เอง และอาการมักจะบรรเทาลงภายใน 3 - 5 วัน แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการแย่ลง หรือหายเจ็บคอยากแม้จะผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ ให้สังเกตลักษณะอาการเจ็บคอรุนแรงร่วมกับอาการข้อใดข้อนึงดังต่อไปนี้ แล้วไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

  • มีไข้สูง
  • เสียงแหบมาก 
  • กลืนลำบากจนแทบกลืนไม่ได้ / สำลักอาหาร และน้ำ
  • หายใจลำบาก
  • มีเลือดปะปนอยู่ในน้ำลาย หรือเสมหะ
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บหู หูอื้อ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดตามไขข้อกระดูก
  • ผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • ปัสสาวะขุ่นพร้อมเลือดปน
  •  

การรักษาไข้หวัดเจ็บคอมีอะไรบ้าง ?

หากเป็นการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษาตามอาการได้ ยกเว้นในไข้หวัดใหญ่, โควิด-19 ปกติร่างกายของเรามีภูมิต้านทานที่จะใช้กำจัดเชื้อไวรัสได้เอง โดยการรักษาตามอาการก็จะเป็น “ตัวช่วย” บรรเทาอาการ ในขณะที่ภูมิต้านทานของเรากำลังกำจัดเชื้อ ยาบรรเทาอาการได้แก่ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอละลายเสมหะ ฯลฯ ที่สำคัญต้องนอนพักผ่อนอย่าง เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 2 ลิตร เพื่อให้ภูมิต้านทานของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

หากเป็นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีนี้เองที่ยาปฏิชีวนะ จะมีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยขัดขวางการแพร่กระจายของแบคทีเรียตัวร้าย และทำลายเชื้อร่วมกับภูมิต้านทานของตัวเราเอง โดยหากต้องกินยาปฏิชีวนะควรกินด้วยขนาด และเวลาตามที่แพทย์แนะนำให้ครบ ไม่กิน ๆ หยุด ๆ เองเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาและไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

 

ดูแลตนเองอย่างไร ? เมื่อมีอาการเจ็บคอ

1.  เลี่ยงการใช้เสียง

     เมื่อเจ็บคอ เราไม่ควรใช้เสียงมากเพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบบริเวณคอมากขึ้นและทำให้คอแห้งได้ง่าย

2.  ดื่มน้ำให้มากขึ้น

     การดื่มน้ำให้เพียงพอวันละประมาณ 2 ลิตรต่อวันนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาอาการเจ็บคอ เพราะหากดื่มน้ำน้อยร่างกายจะขาดน้ำ ส่งผลให้ผลิตน้ำลายและเมือกได้น้อยกว่าปกติ ทำให้คอแห้งและเกิดอาการเจ็บคอตามมา การดื่มน้ำเปล่า น้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้องจึงเป็นทางเลือกที่ดี และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพราะจะทำให้คอแห้งและอาการแย่ลงกว่าเดิมได้

3.  กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

    การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ เนื่องจากน้ำเกลือจะช่วยดึงเมือกออกจากเนื้อเยื่อที่บวมหรืออักเสบ อีกทั้งเกลือยังทำหน้าที่ช่วยต้านแบคทีเรียจึงยับยั้งการเจริญเติบโตของ แบคทีเรียได้ เราสามารถกลั้วคอด้วยน้ำเกลือโดยผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว กลั้วคอวันละ 2 - 3 ครั้ง

4.  รับประทานน้ำผึ้ง

     น้ำผึ้งมักเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนนึกถึงเมื่อเกิดอาการเจ็บคอ เพราะมีรสชาติที่หอมหวานและทำให้ชุ่มคอ อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยต้านแบคทีเรีย แก้อักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ และหากนำน้ำผึ้งผสมกับน้ำอุ่น บีบมะนาวเล็กน้อย ดื่มระหว่างวันจะยิ่งช่วยให้อาการเจ็บคอดียิ่งขึ้นด้วย

5.  หลีกเลี่ยงอากาศแห้ง และฝุ่นควัน

     “อากาศที่แห้ง” เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บคอ เพราะอากาศจะเสียดสีทำให้ระคายเคืองคอ ฉะนั้นการหายใจในอากาศที่ชื้นขึ้นจึงสามารถบรรเทาอาการนี้ได้ โดยเราสามารถเปิดเครื่องทำความชื้นไว้ในห้อง สูดไอน้ำจากการอาบน้ำอุ่น หรือการต้มน้ำบนเตาเป็นเวลา 30 นาที ก็สามารถช่วยเพิ่มความชื้นในบ้านได้ เมื่อออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝุ่นควันและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ

6. การพักผ่อนให้เพียงพอ

     การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะระหว่างนอนหลับ ร่างกายจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่มีผลกับการฟื้นฟูร่างกาย และฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอร่างกายจะสามารถซ่อมแซม และกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำงานอย่างเป็นปกติ และมีประสิทธิภาพโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับ 7 - 8 ชม. ต่อวันเป็นอย่างน้อย

 การดูแลสุขภาพตนเองเป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มเจ็บคอใหม่ ๆ แนะนำให้ลองดื่มน้ำอุ่นเยอะ ๆ และหายาอมที่บรรเทาอาการเจ็บคอมาทาน แต่ถ้า 2 - 3 วันรู้สึกไม่หายเสียที แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดดีกว่าค่ะ เผื่อบางทีอาจมีอะไรที่มากกว่าอาการเจ็บคอธรรมดาก็เป็นได้ค่ะ

 



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แผนกตา หู คอ จมูก

สถานที่

อาคาร A ชั้น G

เวลาทำการ

จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00

เบอร์ติดต่อ

02 080 5999 ต่อ 4011

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย

วัณโรค ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังขาดความตระหนักรับรู้ และยังมองว่าไม่ร้ายแรงขณะที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยติดอันดับ 14 ของโลกที่มีปัญหาวัณโรคสูง

blank บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย

วัณโรค ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังขาดความตระหนักรับรู้ และยังมองว่าไม่ร้ายแรงขณะที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยติดอันดับ 14 ของโลกที่มีปัญหาวัณโรคสูง

blank บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ไอเรื้อรัง ระวังปอดพังไม่รู้ตัว

เคยเป็นไหม ? ไอบ่อย ๆ จนน่ารำคาญ กินยาแล้วก็ยังไม่หาย บางครั้งไอนานหลายสัปดาห์ หลายคนมีอาการแบบนี้ก็คิดว่าแค่เป็นการไอปกติทั่วไป

นพ.อดิศร มนูสาร โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.อดิศร มนูสาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ไอเรื้อรัง ระวังปอดพังไม่รู้ตัว

เคยเป็นไหม ? ไอบ่อย ๆ จนน่ารำคาญ กินยาแล้วก็ยังไม่หาย บางครั้งไอนานหลายสัปดาห์ หลายคนมีอาการแบบนี้ก็คิดว่าแค่เป็นการไอปกติทั่วไป

นพ.อดิศร มนูสาร โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นพ.อดิศร มนูสาร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม