วัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย
วัณโรค ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังขาดความตระหนักรับรู้ และยังมองว่าไม่ร้ายแรงขณะที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยติดอันดับ 14 ของโลกที่มีปัญหาวัณโรคสูง สำหรับสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย มีอัตราผู้ป่วย 156 ต่อแสนประชากร คาดว่าผู้ป่วยรายใหม่ และกลับเป็นซ้ำกว่า 108,000 รายต่อปี วัณโรคเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดพบร้อยละ 80 ส่วนวัณโรคนอกปอดเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื้อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น
วัณโรคคืออะไร ?
วัณโรค เกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก เคยมีการติดต่อ และสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคร้ายแรง หรืออยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน และผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี จากปัญหาทางด้านโภชนาการ ติดยาเสพติด หรือพิษสุราเรื้อรัง ไม่เพียงเท่านั้น เด็ก และผู้สูงอายุยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากทั้ง 2 วัยนี้จะมีสุขภาพที่อ่อนแอกว่าคนในวัยผู้ใหญ่
ในขณะที่ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้น้อยกว่า เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เองตามธรรมชาติ หรือหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนแล้วผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง เชื้อก็จะไม่แสดงอาการใด ๆ เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง ?
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากมีโรคบางอย่าง หรือเข้ารับการรักษาบางประเภท เช่น เป็นเอดส์ หรือ กำลังทำเคมีบําบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- เดินทาง หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง
- กำลังใช้สารบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ไม่มีบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขให้ผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการ
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น กำลังอาศัยอยู่หรือเคยทำงานในสถานพยาบาล หรือกำลังอาศัย หรืออพยพมาอยู่ในประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง
อาการของวัณโรค ?
- ไข้เรื้อรัง ผอมลง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- ไอมีเสมหะ หอบ เหนื่อย เจ็บอก
- ไอเป็นเลือด
- ต่อมน้ำเหลืองโต คลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และคอ
- ตับ ม้ามโต คลำพบก้อนในท้อง
- ปวดศีรษะ หมดสติ ชักเกร็ง
- อยู่กับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค
ขั้นตอนของการรักษา ?
- ให้ยารักษาวัณโรคใช้เวลาในการรักษา 6 – 8 เดือน กินยาจนครบไม่หยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยาควรรีบปรึกษาแพทย์
- ให้การรักษาไปตามอาการเช่น ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ยาบำรุงโลหิต (ถ้าซีด) วิตามินรวม (ถ้าเบื่ออาหาร) เป็นต้น
- แพทย์จะนัดติดตามอาการและตรวจเสมหะเป็นระยะ
ถึงแม้วัณโรคจะเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับเป็นซ้ำได้เช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายที่สำคัญในการรักษาคือ รักษาให้หายขาดเพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อ และป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มีบ้างแต่น้อย เช่น รักษาด้วยวิธีผ่าตัด ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคเฉพาะตำแหน่ง หรือรับประทานยาแล้วมีผลข้างเคียงสูง การป้องกันวันโรคทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อสุขภาพ และความปลอดภัยของทุก ๆ คนนะคะ