มะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย
“โรคมะเร็ง ภัยร้ายที่ทั่วโลกต่างหวาดกลัวและมีอัตราอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในสถานการณ์โรคมะเร็งโลก ระบุว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โรคมะเร็งจึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ”
ปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี
สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง !!
ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ปัจจัยภายนอกที่ว่านั้นคือพฤติกรรมการปฎิบัติตัวที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้
-
พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ
-
การสูบบุหรี่ (มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด)
-
การดื่มสุรา
-
ความเครียด
-
การได้รับรังสี
-
การใช้สารเคมีเป็นประจำ
-
ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
-
ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
-
ความอ้วน
-
การไม่ออกกำลังกาย
-
การไม่รับประทานผัก – ผลไม้สดเป็นประจำ
7 สัญญาณอันตรายเสี่ยง “โรคมะเร็ง”
-
ระบบขับถ่ายเปลี่ยนแปลง
-
เป็นแผลเรื้อรัง
-
ร่างกายมีก้อนตุ่มผิดปกติ
-
กลืนอาหารลำบาก
-
ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล
-
ไฝหูดเปลี่ยนไป
-
ไอและเสียงแหบเรื้อรัง
มะเร็งบางชนิดไม่แสดงอาการ !!
มะเร็งบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติของร่างกายใดๆแสดงให้เห็น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกายก่อนที่จะมีอาการแสดง ทำให้สามารถตรวจพบโรคร้ายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถทำการรักษาโรคร้ายได้ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสการหายขาดได้ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมีประสิทธิผลสูงทั้งโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย !!
-
มะเร็งตับและท่อน้ำดี
โรคมะเร็งตับ เป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30 – 70 ปี โรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ซึ่งกว่าจะได้รับการวินิฉัย ก็มักจะอยู่ในท้ายโรคและไม่สามารถรับการรักษาได้ทัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากที่สุด มะเร็งตับมีสาเหตุหลักคือ การได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับสารพิษอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) การรับยาบางชนิด และพันธุกรรม เป็นต้น
โรคมะเร็งท่อน้ำดี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มาจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดแบบดิบ ทำให้ได้รับตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น บุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
- มะเร็งเต้านม
ส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม สามารถเริ่มพบได้ตั้งแต่วัยสาวเป็นต้นไป และจะพบได้มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนมากจึงจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีโอกาสเป็น เพราะผู้ชายเองก็เป็นได้ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ การชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
มะเร็งปอด
ปัจจุบันมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่า 85% เกิดจากการสูบบุหรี่ และอีก 30% มาจากผู้ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่ อาการเริ่มแรกมักมีการไอเสมหะหรือไอมีเลือด เจ็บหน้าอก หายใจดังและถี่ ความอยากอาหารลดลง พฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งปอด การสูบบุหรี่ด้วยตัวเองหรือการสูดดมควันบุหรี่มือสอง การสูดดมฝุ่น รวมถึงมลพิษในอากาศเป็นระยะเวลายาวนาน
-
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักถือเป็นมะเร็งยอดฮิตอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัยโดยเฉพาะคนทำงาน อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่มักปรากฏให้เห็นเช่น อุจจาระมีเลือดปน น้ำหนักลด มีอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เคยถูกตรวจพบว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มาก่อน มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
-
มะเร็งปากมดลูก
เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้หญิงจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 500,000 คนทั่วโลก และยังเป็นอันดับต้น ๆ ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย มักพบในช่วงอายุ 30 – 70 ปี (พบมากในช่วง 50 ปีขึ้นไป) อาการป่วยในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ เลย ดังนั้นหากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกทั้งที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว บางรายมีอาการตกขาวมากและมีกลิ่นผิดปกติควรรีบพบแพทย์ ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ ผู้ที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี การมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย รวมทั้งมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง สตรีที่สูบบุหรี่หรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้สูบบุหรี่
โรคมะเร็ง โรคร้ายที่คร่าชีวิตอันดับต้น ๆ เพราะกว่าที่เราจะรู้ตัวว่าเป็นโรคเหล่านี้หรือมีการแสดงอาการก็แทบจะระยะสุดท้าย แต่จะดีกว่าไหมถ้ารู้จักเตรียมตัวให้พร้อมเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างละเอียด เพื่อให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้สภาพร่างกายและความเสี่ยงภายในตัวเรา รวมทั้งสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคร้ายในอนาคตได้อย่างถูกต้อง ลดความกังวลในเรื่องสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับต้วเราเอง เพื่อเราทุกคนจะได้มีควาสุขกับชีวิตและได้อยู่ดูแลคนที่เรารักตลอดไป
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็ง
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
อังคาร - ศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4011