ท้องเสียในเด็ก สาเหตุ การรักษา และการป้องกัน
เด็กเป็นวัยที่เปราะบางและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคุณแม่ถึงประคบประหงมลูกน้อยเป็นอย่างดี คุณแม่บางคนถึงขั้นที่ว่าลูกจะหยิบจับอะไรเป็นอันต้องหยิบยื่นทิชชู่เปียกหรือแอลกอฮอล์ให้ล้างมือก่อนทุกครั้งไป เพราะเกรงว่าลูกจะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 1 ปี พบว่าประมาณ 70% เกิดจากการได้รับ เชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมักจะเข้าทางปากโดยการกินอาหารหรือดื่มนมซึ่งปนเปื้อนเชื้อโรค หรือการหยิบจับของเล่นเอาเข้าปาก หรือแม้กระทั่งมือของเด็กเองซึ่งหยิบจับสิ่งของหรือคลาน เล่นและเอาเชื้อโรคเข้าปากตัวเอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียได้
ดังนั้นโรคนี้จึงเป็นปัญหาที่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีโอกาสได้รับเชื้อโรคมากกว่าเพราะยังช่วยตัวเองไม่ได้และไม่รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง รวมทั้งมีภูมิต้านทานโรคต่ำ และการที่เด็กท้องเสียบ่อย ๆ หรือปล่อยให้ท้องเสียนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อตัวเด็ก เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีการดูแลเมื่อเด็กท้องเสียพร้อมไปกับวิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงรับเชื้อโรค
ท้องเสียในเด็ก
โรคท้องเสียในเด็ก เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกเลือดอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัสและพยาธิ จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป หากถ่ายติดต่อกันหลายครั้งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในช่วงแรก และภาวะขาดสารอาหารในช่วงหลัง มักจะได้รับเชื้อเข้าไปก่อนแสดงอาการประมาณ 1-2 วัน
สาเหตุโรคท้องเสีย
ท้องเสีย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่พบแบบเฉียบพลัน คือ อาการ ท้องเสียที่เป็นไม่เกิน 14 วัน ใน เด็กเล็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
- เชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย เช่น Rota, Noro, Adeno ไวรัส
- เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อย เช่น Shigella, Salmonella, E.coli
ในเด็กเล็ก ที่ติดเชื้อไวรัสและเกิดลําไส้อักเสบ อาจทําให้ลําไส้ มีการย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ เช่น ลําไส้ขาดน้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตส ทําให้เด็กมีอาการท้องเสียเป็นเวลานานขึ้นถ้ายังกินนม ที่มีน้ำตาลแลคโตส
ควรนำเด็กไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังนี้
- ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด
- ไข้สูงหรือชัก
- อาเจียนบ่อย
- ท้องอืด
- หอบลึก
- ไม่ยอมดื่มสารละลายน้้าตาลเกลือแร่ทุกชนิดหรือไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
- ดื่มสารละลายน้้าตาลเกลือแร่แล้วแต่เด็กยังดูเพลีย,ซึม
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำบ่อย (มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน)
- ไม่ปัสสาวะนานเกิน 8 ชั่วโมง
การรักษาโรคท้องเสียในเด็ก
หลักในการรักษาโรคท้องเสียในเด็ก แพทย์จะประเมินเด็กจากภาวะขาดน้ำเพื่อให้สารน้ำทดแทนและให้ยารักษาตามอาการ ในกรณีที่เด็กสามารถรับประทานได้ สามารถให้ยาผงเกลือแร่ (ORS) กลับไปรับประทานที่บ้านได้ แต่ถ้าเด็กอาเจียนมาก หรือมีภาวะขาดน้ำระดับปานกลางถึงมาก แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและปรับสมดุลเกลือแร่ในเลือด
นอกจากนี้จะให้การรักษาตามอาการร่วมด้วย ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ควบคู่กับการเช็ดตัว ถ้าอาเจียนให้รับประทานยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการปวดท้อง ปวดบิด ปวดบีบ ให้ทานยาลดการบีบตัวของลำไส้ กรณีรอบทวารหนักแดงจากอุจจาระเป็นกรด ให้ทายาซิงค์เพส (Zinc paste) เพื่อป้องกันอุจจาระทำให้เกิดการระคายเคืองผิวรอบทวารหนัก กรณีมีเกลือแร่ในเลือดผิดปกติต้องให้สารน้ำและเกลือแร่เพื่อปรับสมดุลเกลือแร่ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น ในการติดเชื้อบางชนิด ได้แก่ เชื้ออหิวาต์ เชื้อบิด พยาธิบางชนิด
การป้องกันโรคท้องเสียในเด็ก
วิธีป้องกันท้องเสียที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดเพื่อกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าปากทั้งนี้เริ่มตั้งแต่ผู้เลี้ยงเด็ก ต้องหมั่นล้างมือทุกครั้ง ก่อนจะหยิบจับอาหารหรือชงนมให้เด็กที่กินนมผสม รวมทั้งขวดนม, จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที
ดังนั้นจึงต้องมีขวดนมจำนวนเพียงพอที่จะมีเวลาต้มทำความสะอาดได้ ควรชงนมในปริมาณที่กินหมดในครั้งเดียว ถ้ายังกินไม่หมดควรมีฝาครอบ จุกให้มิดชิดและไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 2 ชม. ในเด็กโตที่กินอาหารอื่นต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ มีภาชนะปิด ทำความสะอาด ภาชนะที่ใส่เช่น จาน, ชาม, ช้อน ล้างผักและผลไม้ก่อนรับประทานอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ และอย่าลืมสอนให้เด็กรู้จักล้างมือและสอนให้เห็นความสำคัญของการล้างมือบ่อย ๆ เพราะในวัยนี้จะชอบเอาของ และมือตัวเองเข้าปากก็จะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าตัวเองด้วย ของเล่นที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ก็ควรนำไปล้าง แต่บางชนิดที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ก็ควรทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่
การป้องกันโรคท้องเสียที่ดีที่สุดคือการให้เด็กได้รับนมแม่โดยเฉพาะในช่วงอายุ 6 เดือนแรก ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวเพราะ “สะดวก สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” รวมทั้งได้รับภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ซึ่งมีเฉพาะในนมแม่นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างและเพิ่มความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูกด้วยการดูดนมจากเต้าโดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิด
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกเด็ก 24 ชั่วโมง
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4401