อันตรายเบาหวานในเด็ก
โรคเบาหวานเป็นโรคยอดฮิตที่หลาย ๆ คนมีความกังวลใจ หากแต่น้อยคนนักจะทราบว่าโรคเบาหวานนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งมีสาเหตุและการดูแลรักษาที่แตกต่างกันกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ เนื่องจากในวัยเด็กร่างกายยังต้องการการเจริญเติบโตที่สมวัยจึงต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิด
เบาหวานในเด็ก
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติจากการที่ร่างกายไม่สามารถหลั่งสารอินซูลินในปริมาณที่เพียงพอเพื่อมาจัดการกับระดับน้ำตาล หรือเกิด “ภาวะดื้ออินซูลิน” ที่สารอินซูลินที่ร่างกายหลั่งมานั้นมีประสิทธิภาพไม่ดีพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
โรคเบาหวานในเด็กจะแตกต่างจากโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ เพราะโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้นจะทำให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนได้เยอะกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากว่าเด็กมีการเจริญเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ และมักจะใช้ความรู้สึกอารมณ์ในการตัดสินใจ จึงส่งผลให้การรักษาการควบคุมอาการของโรคไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่
โรคเบาหวานที่พบในเด็กสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes)
โรคนี้เกิดได้ในเด็กตั้งแต่อายุน้อย ส่วนมากมักไม่อ้วน ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากมีการสร้างภูมิต้านทานตนเองมาทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อนส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินในร่างกายได้ผู้ป่วยจึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
อาการที่พบได้บ่อย คือรู้สึกกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะเยอะ หิวบ่อย กินเก่งแต่น้ำหนักกลับลดลง มีความอ่อนเพลีย ในบางรายที่มีภาวะรุนแรงจะพบภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรืออาจช็อกหมดสติได้
การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักทำโดยการฉีดยาอินซูลิน และเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อเช็คน้ำตาล ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ให้กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดนี้คือ ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิต
- เบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes)
ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากจากเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน มักพบในเด็กที่มีโรคอ้วนหรือภาวะโภชนาการเกิน หรือปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น เชื้อชาติ รวมไปถึงประวัติการคลอดที่มีน้ำหนักแรกเกิดมากหรือน้อยกว่าปกติ
อาการที่พบได้บ่อย คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะตอนกลางคืน ผิวหนังต้นคอหนาดำ บาดแผล หายช้า
การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักทำโดยการกินยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือยากระตุ้นการทำงานของอินซูลินร่วมกับการดูแลเรื่องอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานประเภทนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง
โรคเบาหวานในเด็ก และโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ต่างกันอย่างไร ?
แม้ว่าโรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีความคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ แต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการที่พบเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น
- การดูแลรักษา เนื่องจากวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตและการแปลงเปลี่ยนทางด้านอารมณ์ และใช้ความรู้สึกมากกว่าอารมณ์ในการตัดสินใจเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจส่งผลต่อการควบคุมการรักษาหรือควบคุมอาการของโรคได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ จึงอาจจะต้องใช้บุคคลรอบข้าง เช่น ผู้ปกครองหรือญาติ ในการดูแลรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ฉะนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
- ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็ก โอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
เมื่อพบว่า “ลูกเป็นเบาหวาน”
ผู้ปกครองควรรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างละเอียด ทั้งที่มาของโรค สิ่งกระตุ้น อาการ การรักษา วิธีใช้ยา วิธีเจาะวัดน้ำตาลในเลือด การดูแลตนเอง สัญญาณอันตราย ไปจนถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าเด็กมักไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหรือรับข้อมูลที่มีความซับซ้อน พ่อแม่จึงควรรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็ก
สำหรับลูกน้อยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 การดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะในเรื่องของอาหาร
- นับสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต เพราะจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถคำนวณปริมาณอินซูลินที่ให้กับลูกได้ โดยอาจจำเป็นต้องใช้นักโภชนาการให้คำแนะนำตรงส่วนนี้ ในการแบ่งและนับสัดส่วนได้ถูกต้องเหมาะสม ต้องรู้ถึงปริมาณอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนั้น ๆ ด้วย เพราะไม่ควรงดอาหารในเด็ก แต่ควรให้ในสัดส่วนที่พอเหมาะต่อการเจริญเติบโต
- เจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล เพื่อช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับการเจาะดูน้ำตาลในเลือดนั้น ควรเจาะก่อนอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน เพื่อคำนวณปริมาณอินซูลินได้ถูกต้อง
- ฉีดยาอินซูลิน ตามที่แพทย์แนะนำ
- ผู้ปกครองต้องรู้จักและสอนลูกน้อยให้รับมือ กับ “ภาวะน้ำตาลต่ำ” ภาวะน้ำตาลต่ำ เด็กจะมีอาการเหงื่อออก ใจสั่น จะเป็นลม หากวัดน้ำตาลในเลือดดูจะพบว่ามีค่าต่ำกว่า 60
สำหรับลูกน้อยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะอ้วน (พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตประจำวัน) และพันธุกรรม
- ผู้ปกครองจะต้องสร้างวินัยในบ้าน นั่นคือลดการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ลดการดูโทรทัศน์ ไม่นอนดึก ฝึกนิสัยการกินที่ถูกต้อง ไม่กินจุบจิบตลอดเวลา
- การให้ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสมตามด้วยหลักโภชนาการ การออกกำลังกาย การควบคุมอาหารเพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์มาตรฐาน
- สำหรับเด็กบางรายจะต้องใช้ยาร่วมด้วย อย่างเช่น ยาเม็ดและอินซูลิน และการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ควรตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเป็นประจำ เพื่อประเมินอาการ และหาวิธีรักษาให้ได้ผลมากขึ้น
การป้องกันเบาหวานในเด็ก
ปัจจุบันในวงการแพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันได้ 100% โดยเฉพาะในเด็กที่มี สาเหตุโรคเบาหวาน มาจากกรรมพันธุ์ แต่การดูแลและป้องกันเบื้องต้นที่ไม่ให้เกิดโรคเบาหวานนั้นสามารถป้องกันได้โดยการปรับการใช้ชีวิตประจำวันให้มีวินัยมากขึ้น เลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค อย่างเช่น อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันแคลอรีสูง ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรค เบาหวานในเด็ก ได้พอสมควร
คุณหมอฝากถึงผู้ปกครอง
โรคเบาหวานในเด็กเป็นโรคที่อันตรายที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการของโรคเบาหวานมาก่อนยิ่งต้องใส่ใจดูแลมากเป็นพิเศษ เมื่อเป็นแล้วยังไม่มีการรักษาให้หายขาดและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ดังนั้นหากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน เช่น อ้วน ควรมาปรึกษาเพื่อป้องกันก่อนจะเป็นโรคหรือหากพ่อแม่พบสัญญาณโรคเบาหวานควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม