โรคเด็กที่พบบ่อยในฤดูฝน ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในฤดูฝนแต่ละปี จะสังเกตได้ว่าเด็ก ๆ จะไม่สบายได้ง่าย เพราะอากาศจะเริ่มเย็นลง และชื้นมากขึ้น แถมยังมีเชื้อไวรัสอีกมากมายที่สามารถทำให้เด็ก ๆ ไม่สบายได้ โรคเด็กที่พบบ่อยในฤดูนี้คือโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจ,โรคที่ยุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบ ถ้ามีน้ำท่วมขังก็จะเห็นโรคเท้าเปื่อยด้วยค่ะ และหมอจะแบ่งโรคที่พบเป็นดังนี้
1. โรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจจะแบ่งได้เป็น
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, คออักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ, ไซนัสอักเสบ
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคปวดบวม, หลอดลมอักเสบ, โรคทางเดินหายใจอุดตันกะทันหันจากกล่องเสียงอักเสบ (CROUP) และโรคหอบหืด
- โรคไข้หวัดและโรคแทรกซ้อนจากหวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เพราะยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพอ ฤดูฝนเป็นฤดูที่มีเชื้อไวรัสหลายชนิดที่ทำให้เกิดเป็นหวัดได้และสามารถติดต่อกันได้ง่ายจากอากาศที่หายใจ อาการส่วนใหญ่จะมีน้ำมูกไหล,คันตา,จาม,ไอ, และอาจจะมีเจ็บคอ, ไข้, ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 5 - 7 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ (เจ็บหู) หรือไซนัสอักเสบ (ปวดศีรษะ) หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะสังเกตได้จากน้ำมูกที่เปลี่ยนจากสีใส ๆ เป็นเขียว ๆ เหลือง ๆ ไอมากขึ้น, ไข้สูงนานกว่า 3 วัน หรือหายใจลำบาก ก็ควรจะพามาพบกุมารแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง บางรายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่มาก็จะมีอาการที่รุนแรงและอยู่นานกว่าไข้หวัดธรรมดา ในรายที่เป็นไม่มากก็สามารถดูแลอยู่ที่บ้านได้โดย
- ให้เด็กพักผ่อน
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
- รับประทานยาลดไข้ (ถ้ามีไข้)
- ดูแลให้สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นถ้าอากาศเย็น
- ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมขณะที่เป็นไข้หวัดโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- ในเด็กเล็กๆ ที่มีน้ำมูกอาจจะช่วยโดยใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำเกลือเช็ดจมูก หรือถ้ามีน้ำมูกมากควรหยอดน้ำเกลือในโพรงจมูกแล้วใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกออกซึ่งควรทำก่อนดูดนมและก่อนนอน ก็จะช่วยให้เด็กดูดนมและนอนหลับได้ดีขึ้น
- โรคปอดบวม จะเป็นได้จากการติดเชื้อไวรัสและ / หรือเเบคทีเรีย อาการส่วนใหญ่จะมีเหมือนไข้หวัดมาก่อนแต่จะเริ่มหายใจเร็วขึ้น มีไข้สูง และถ้าเป็นมากขึ้น เด็กจะเริ่มหอบ หายใจลำบากขึ้น จนมีจมูกบานหรือชายโครงบุ๋ม ริมฝีปากเขียวและถ้าเริ่มเห็นอาการดังกล่าวก็ควรรีบพามาพบแพทย์
- โรคหลอดลมอักเสบและหอบหืด ส่วนใหญ่จะเริ่มมีน้ำมูกใส ๆ ไข้ต่ำ ๆ ไอซึ่งอาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหายใจเข้าได้ไม่เพียงพอ หรือถ้ามีอาการหอบ ก็อาจจะได้ยินเสียงวี๊ด (WHEEZING) หายใจเร็วขึ้น, ชายโครงบุ๋มและจมูกบานได้ ส่วนมากถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน อาการหอบครั้งแรกมักจะเป็นจากการติดเชื้อไวรัสหรือจากปวดบวม ส่วนเด็กที่มีอาการเรื้อรังเป็นๆหายๆอยู่เรื่อยๆ จนโตก็จะเรียกว่าเป็นโรคหอบหืด ซึ่งจะต้องระวังเพราะอาการหวัดธรรมดาก็สามารถทำให้เด็กพวกนี้หอบขึ้นมาได้
- โรคทางเดินหายใจอุดตันกะทันหัน จากการบวมอักเสบของกล่องเสียงที่ลามไปถึงหลอดลมใหญ่ (VIRAL CROUP) ในฤดูฝนจะมีเชื้อไวรัสบางชนิดที่จะทำให้เกิดอาการนี้ได้ ส่วนใหญ่จะเห็นอยู่ในเด็กอายุ 3 เดือน ถึง 3 ขวบ และจะมาด้วยอาการไข้ ไอเสียงก้อง (BARKING COUGH) เริ่มหายใจเสียงดัง และใช้กล้ามเนื้อส่วนคอในการหายใจเข้า (STRIDOR) ซึ่งจะเห็นได้เมื่อหลอดลมเริ่มอุดตันจากอาการบวมมากขึ้น ถ้าคิดว่าลูกอาจจะเป็นโรคนี้ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
2.โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ (DENGUE)
- เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ซึ่งจะมาจากยุงลายตัวเมีย ที่ดูดเลือดคนเป็นอาหารในเวลากลางวัน ยุงลายชนิดนี้จะวางไข่ในที่ ๆ มีน้ำขังนิ่ง ๆ ดังนั้นในหน้าฝนจึงมียุงลายชนิดนี้มากอาการจะแบ่งได้เป็น
- ไข้เด็งกี่ (DENGUE FEVER) ซึ่งจะมีไข้สูงลอย (39 – 40 องศา) 2 – 7 วัน, ปวดศีรษะ, ปวดท้องแถวลิ้นปี่, ปวดคอและกล้ามเนื้อและอาจมีคอแดง, อาเจียน และจุดเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ส่วนใหญ่มักจะไม่มีน้ำมูกหรือไอร่วมด้วย โรคนี้สามารถหายเองได้ใน 4 – 5 วันถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน
- ไข้เลือดออกเด็งกี่ (DENGUE HEMORRHAGIC FEVER) จะมีอาการเหมือนไข้เด็งกี่แต่จะมีเลือดออกมากกว่า โดยเฉพาะในวันที่ 3 - 7 ของโรค เด็กจะเริ่มซึมลง อาเจียนมากขึ้น ปวดท้องและตับโตขึ้นได้ และถ้าเป็นมาก ๆ ความดันอาจจะต่ำและช็อคได้ ดังนั้นถ้าสงสัยว่าเด็กจะเป็นไข้เลือดออกควรพามาตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อช่วยในการดูแลและรักษาที่ถูกต้อง
- เด็กบางคนอาจจะมีการติดเชื้อไวรัสตัวอื่นที่มีอาการคล้ายไข้เด็งกี่ได้ แต่อาการจะน้อยและสั้นกว่า วิธีป้องกันคือป้องกันไม่ให้โดนยุงกัดโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน การใช้ยาฆ่ายุง และกำจัดแหล่งเพาะยุงตามที่ ๆ มีน้ำขังก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคไข้เลือดออกนี้ได้
3. โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัส เจอี
จะเจอบ่อยในภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยยุงจะเป็นพาหะ และจะมีอาการไข้สูง, อ่อนเพลีย, คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ และใน 3 – 4 วันจะเริ่มมีอาการทางประสาท เช่น ชักเกร็ง,ซึม และอาจจะเสียชีวิตได้ภายใน 10 วัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปวดบวมและกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนและระวังไม่ให้โดนยุงกัด
4.โรคเท้าเปื่อยหรือเชื้อราที่เท้า
จะพบในแหล่งที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ดังนั้นถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าหรือแช่เท้าในน้ำนาน ๆ ได้ ก็จะช่วยป้องกันโรคเท้าเปื่อยได้ ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำสกปรกมาก็ควรจะล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทุกครั้ง ดังจะเห็นแล้วว่าในฤดูฝนมีโรคที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ง่าย ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
หากมีอาการตามโรคทั้ง 4 โรคที่ได้กล่าวมาแล้วควรรีบนำลูกหลานของท่านเข้าปรึกษาแพทย์ค่ะ
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกเด็ก 24 ชั่วโมง
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4401