ต่อมลูกหมากโต ภัยร้ายที่ผู้ชายต้องเจอ
25 มกราคม 2567
ต่อมลูกหมากที่โตมากขึ้นตามอายุ เป็นอาการที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักต้องเจอเมื่อมีอายุมากขึ้น และทำให้กังวลถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่จะตามมา แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจจนเกินไป เพราะโรคต่อมลูกหมากโตมีทั้งอาการหนักและเบาแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งเราสามารถรับมือกับมันได้
โรคต่อมลูกหมากโตคืออะไร?
โรคต่อมลูกหมากโต คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มากขึ้นจากการเพิ่มจำนวนเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามอายุและฮอร์โมนเพศชาย พบได้เป็นปกติในผู้ชาย โดยอัตราการโตและลักษณะรูปร่างของต่อมลูกหมากก็จะแตกต่างกันในแต่ละคน ประกอบกับอาการปัสสาวะผิดปกติที่พบนั่นก็จะแตกต่างกันไปตามขนาดของต่อมลูกหมากที่โตขึ้นและรูปร่างของต่อมที่โตซึ่งอาการปัสสาวะผิดปกตินั้นสามารถเกิดได้ทั้งจากการกดเบียด อุดกั้น หรือจากระบบประสาทบริเวณกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะปัสสาวะที่โดนกระตุ้นจากตัวต่อมลูกหมากทำให้มีการหดเกร็งหรือระคายเคืองเส้นประสาทได้ง่ายกว่าปกตินั่นเอง
โรคต่อมลูกหมากโตมีอาการอย่างไร ?
อาการที่เกิดจากการกดเบียดของท่อปัสสาวะ ได้แก่
- ปัสสาวะลำเล็กลง
- ปัสสาวะไม่พุ่งเหมือนแต่ก่อน
- รอนานกว่าจะปัสสาวะออกมา
- มีปัสสาวะหยดตามหลังปัสสาวะเสร็จ
- มีความรู้สึกว่าปัสสาวะยังไม่หมด
อาการระคายเคืองที่เป็นผลจากการตอบสนองของกล้ามเนื้อหูรูดและกระเพาะปัสสาวะจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้น ซึ่งได้แก่
- ปัสสาวะบ่อย
- กลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน
- ปัสสาวะเป็นเลือด
เป็นต่อมลูกหมากโตแล้วจะกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ?
โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดในผู้ชายสูงอายุ และอาการของโรคทั้ง 2 กลุ่มนี้คล้ายกันมากทำให้การตรวจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามโรคทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นคนละชนิดกัน แต่เราอาจพบร่วมกันได้ ดังนั้นในเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากร่วมด้วย โดยการตรวจเลือดดูค่า PSA ร่วมกับตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต
-
การซักประวัติ หรือการให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม (IPSS) เพื่อประเมินความรุนแรงของความผิดปรกติของการถ่ายปัสสาวะ
-
การตรวจทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้น การใช้นิ้วคลำจะเป็นวิธีการตรวจร่างกายที่ง่ายที่สุดในการประเมินถึงลักษณะทางภายกายภาพของต่อมลูกหมาก และที่สำคัญยังสามารถบอกได้ถึงความผิดปรกติที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย
-
การตรวจปัสสาวะเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อ มีเม็ดเลือดผิดปรกติหรือไม่ และยังเป็นการบอกถึงความผิดปรกติของร่างกายในระบบอื่นได้
-
การตรวจเลือดเพื่อหาค่า PSA (prostatic specific antigen) เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายอายุมากกว่า 45 ปี
-
การตรวจอัลตราซาวน์ ส่วนมากมักใช้เมื่อมีความผิดปรกติในการตรวจปัสสาวะ
-
การตรวจอัตราความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) ร่วมกับการตรวจปัสสาวะที่เหลือค้างหลังจากปัสสาวะหมดแล้ว มีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงและติดตามการตอบสนองต่อการรักษา
-
การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่พบภายในท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงใช้ในกรณีประเมิณต่อมลูกหมากก่อนรับการผ่าตัด
-
การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจยูโรพลศาสตร์ (Urodynamics study) จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน
แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
สำหรับโรคต่อมลูกหมากโตนั้น ส่วนมากมักจะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้น การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะให้อาการขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีวิธีการรักษาแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้
-
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีการรักษาเริ่มแรกแพทย์จะให้ปรับพฤติกรรมเสียก่อน เช่น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจให้ลดการดื่มน้ำลงในช่วงเวลากลางคืนปัสสาวะก่อนนอนเป็นประจำลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ถ้าอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรต้องรักษาด้วยยาต่อไป
-
การใช้ยา
สำหรับการรักษาด้วยยา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบบริเวณหูรูดกระเพาะปัสสาวะและในต่อมลูกหมาก (Alpha-Blockers) ให้มีลักษณะอ่อนตัวลง ปัสสาวะได้คล่องขึ้น รู้สึกระคายเคืองน้อยลง แต่ถ้าในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้นจนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันแม้ได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว หรือในรายที่มีอาการรุนแรงแช่นปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด ควรได้รับการส่องกล้องเพื่อประเมิณหรือพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นที่อาจตามมาได้ เช่นการติดเชื้อ หรือภาวะไตเสื่อม เป็นต้น
-
การผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เพื่อขูดตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate-TURP) เป็นการผ่าตัดที่นำเอาบางส่วนของต่อมลูกหมากที่ขวาง ท่อทางเดินปัสสาวะออกมา โดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะจากแพทย์จะใช้วิธีตัดหรือขูดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยเครื่องมือแบบขดลวดสำหรับตัดและจี้ด้วยไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อตัดและหยุดเลือดออกไปได้พร้อมกันอีกทั้งในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้ในการรักษา ต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นและดียิ่งขึ้น เช่น การใช้เลเซอร์ตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก (Holmium laser enucleation of the prostate ; HoLEP) หรือ การใช้ไอน้ำรักษาต่อมลูกหมากโต (Water Vapor Therapy) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อละเลยการรักษาที่ถูกต้อง
· ปัสสาวะไม่ออกและมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง
· ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากต่อมลูกหมากบวม
· มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
· กระเพาะปัสสาวะเสื่อมหรือพิการ ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้หมด ส่งผลให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบและติดเชื้อ
· การทำงานของไตเสื่อมลง และไตวายในระยะยาว
การโตผิดปกติของต่อมลูกหมากเป็นเรื่องที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม หมั่นสังเกตุลักษณะการปัสสาวะและมาพบแพทย์เฉพาะทางแต่เนิ่น ๆ เมื่อเริ่มมีอาการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเพื่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด รวมไปถึงคุณภาพของชีวิตที่ดีขึ้น