หนาวทีไร ภูมิแพ้ จัดเต็มคาราเบล
ภูมิแพ้เล่นงานทุกที แบบจัดเต็มคาราเบล!!
เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้คงจะกังวลอยู่ไม่น้อย ยิ่งย่างเข้าหน้าหนาวหรืออากาศเปลี่ยนแปลงทีไร “ชาวภูมิแพ้” จะดูแลสุขภาพร่างกายอย่างไรดี? บทความนี้จะมาช่วยตอบข้อสงสัย “คนขี้แพ้” กันนะคะ
โรคภูมิแพ้ คือ อะไร
โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากการที่ร่างกายสร้างปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันเพื่อตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ โดยปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ได้เกิดในทุกคน แต่จะมีปัจจัยเรื่องของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เข้ามาเกี่ยวข้อง
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยพบว่า
-
ถ้าไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว จะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 12
-
บิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30-50
-
บิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ จะทำให้โอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 60-80
2. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว ละอองเกสรหญ้า เช่น หญ้าแพรก หญ้าพง ผักโขม และเชื้อรา เป็นต้น
…เมื่อเรารู้จักความหมายและสาเหตุของโรคภูมิแพ้แล้ว ทีนี้เราจะสังเกตตัวเองได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคภูมิแพ้
อาการของโรคภูมิแพ้
สามารถจำแนกตามระบบเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่
1. โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ (Allergic rhinitis) โดยอาการที่พบ ได้แก่ น้ำมูกใส คัดจมูก คันจมูก และจาม ต่อเนื่องติดต่อกันหลายครั้ง
2. โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือโรคหืด (Asthma) อาการที่พบ ได้แก่ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการมากในตอนเช้ามืดหรือก่อนนอน หรือช่วงที่อากาศเย็นหรือชื้น
3. โรคภูมิแพ้ตาอักเสบ (Allergic conjunctivitis) อาการที่พบได้แก่ ตาแดง เคืองหรือคันตา น้ำตาไหล
4. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) จะมีภาวะผิวแห้งคัน ผื่นผิวหนังอักเสบเป็นๆหายๆ
ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดง และความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากสังเกตว่าตนเองมีอาการที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ดังกล่าว แนะนำว่าให้มาปรึกษากับอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาตามความเหมาะสมต่อไป
การตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้
เมื่อผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ จะมีแนวทางการตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วย 2 วิธีหลัก ได้แก่
1. การทดสอบทางผิวหนัง (Skin test)
การทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีสะกิดบริเวณผิวหนังที่แขน (Skin prick test) โดยการใช้น้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ
2. การเจาะเลือด (Blood test)
การเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ที่สงสัย (Specific IgE)
การรักษาโรคภูมิแพ้
เมื่อทราบสาเหตุของการเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ผู้ป่วยควรรับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
1. การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ (allergen avoidance)
เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ ตรงจุด และสามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้
2. การรักษาด้วยยา (medications)
ยาที่ใช้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคภูมิแพ้
- โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ (Allergic rhinitis): ยาพ่นจมูก ยาแก้แพ้ และการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
- โรคหืด (Asthma): ยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ร่วมกับยาพ่นขยายหลอดลม
- โรคภูมิแพ้ตาอักเสบ (Allergic conjunctivitis): ยาหยอดตา และยาแก้แพ้
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis): การดูแลผิวหนังอย่างถูกวิธี เช่น การทาครีมชุ่มชื้นที่มีโอกาสเกิดการแพ้น้อย (hypoallergenic) อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการใช้ยาทาลดการอักเสบที่เหมาะสม
3. การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)
โดยข้อบ่งชี้ คือ ผู้ป่วยมีภาวะภูมิแพ้รุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามาตรฐาน ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ได้แก่
-
การฉีดใต้ผิวหนัง (Subcutaneous immunotherapy)
-
การอมยาใต้ลิ้น (Sublingual immunotherapy)
4. การรักษาภาวะแทรกซ้อน (complications)
เช่น โรคไซนัสอักเสบ ภาวะหลอดลมตีบ ภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนทางผิวหนัง เป็นต้น
นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้โรคภูมิแพ้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
…. จะเห็นได้ว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ตรงจุด และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข พร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงบ่อยแค่ไหนก็ตาม
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกอายุรกรรม
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 21.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4011