การครอบแก้ว…บำบัดโรค
ถ้าหากพูดถึงวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ตามศาสตร์ของการแพทย์แผนจีน เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงรู้จัก และนึกถึงแต่การฝังเข็มเป็นส่วนใหญ่ วันนี้จึงอยากจะนำเสนอวิธีการรักษาโรคต่าง ๆ ตามศาสตร์ของการแพทย์แผนจีนอีกวิธีการหนึ่งนั่นคือ การครอบแก้ว หรือครอบกระปุก เป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระปุกมาลนไฟให้ร้อน เพื่อไล่อากาศออก จากนั้นจึงครอบกระปุกลงบนผิวหนัง ซึ่งจะมีแรงดูดจากสุญญากาศทําให้เกิดเลือดคั่งขึ้นในบริเวณนั้น อุปกรณ์ครอบจะติดแน่นกับบริเวณผิว และดึงกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด ที่อยู่ถายใต้ บริเวณที่ครอบ ทําให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาท ฮอร์โมน และทําให้ระบบหมุนเวียนเลือดสมดุล ไม่ติดขัด แล้วการครอบแก้วช่วยบำบัดโรคอะไรบ้างวันนี้เรามีคำตอบค่ะ
การครอบแก้วคืออะไร ?
ครอบแก้ว (Cupping Therapy) เป็นการบำบัดรักษาทางเลือกของแพทย์แผนจีนชนิดหนึ่ง โดยนำถ้วยแก้วแบบเฉพาะมาวางไว้บนผิวหนังพร้อมกับใช้ความร้อนให้แก้วดูดผิวหนัง หรือกล้ามเนื้อขึ้นมา ซึ่งจะช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยได้หลากหลาย เช่น บรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยการไหลเวียนโลหิต การอักเสบ การผ่อนคลาย และเพื่อสุขภาพที่ดี รวมไปถึงเป็นการลงลึกไปถึงชั้นเนื้อเยื่อ หรือช่วยในการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย
ก่อนทำครอบแก้วต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
ก่อนทำการครอบแก้ว ควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยการรับประทานอาหารตามปกติ ควรรับประทานอาหารมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป หากมีโรคประจำตัวสามารถรับประทานยาได้ตามปกติ
ครอบแก้วทำอย่างไร ?
แพทย์สอบถามอาการผู้ป่วย และจับชีพจร (แมะ) เพื่อวินิจฉัยโรค จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาโดยใช้แก้วสีใสปลอดเชื้อ อาศัยความร้อนไล่อากาศภายในแก้วเพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศ จากนั้นครอบแก้วลงบนผิวหนัง แก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อขึ้นมา ผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนสี
- การครอบแก้วแบบครอบทิ้งไว้บนผิวหนัง เพื่อรักษาอาการปวดจากความเย็น ปวดจากร่างกายเสียสมดุล หรือปวดเฉพาะที่
- การครอบแก้วแบบเคลื่อนไหวหรือการเดินถ้วย (โจ่วก้วน) เพื่อรักษาอาการปวดจากลมปราณติดขัด และอาการชา
- การครอบแก้วแบบดึงเร็ว (ส่านก้วน) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวด และชาที่ผิวหนัง หรือสมรรถภาพ (ทางร่างกาย) เสื่อมถอย
- การครอบแก้วที่ประสานกับการใช้เข็มปลอดเชื้อ (ซื่อลั้วป๋าก้วน) ใช้รักษาโรคไฟลามทุ่ง ฝีหนอง รวมถึงอาการปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก
- การครอบแก้วที่ใช้คู่กับการฝังเข็ม เพิ่มประสิทธิภาพการฝังเข็ม และครอบแก้วควบคู่กัน
โรคที่เหมาะกับการรักษาด้วยการครอบแก้ว มีโรคอะไรบ้าง ?
- โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง หอบหืด ปอดบวม ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอด อักเสบ ตําแหน่งจุด ต้าจู้เฟิงเหมินเฟ่ยซูอิ๋งชวง
- โรคระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ปวดระบบประสาทกระเพาะ อาหารไม่ย่อย กรด เกินในกระเพาะอาหาร ตําแหน่งจุด กานซูผีซูเก๋อซูจางเหมิน ลําไส้อักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ตําแหน่งจุด ผีซูเว่ยซูต้าฉางซูเทียนซู
- โรคระบบหมุนเวียนเลือดความดันโลหิตสูง ตําแหน่งจุด กานซูต่านซูผีซูเซิ่นซูเว่ยจงเฉิงซาน จู๋ซานลี่ โรคหัวใจขาดเลือด ตําแหน่งจุด ซินซูเก๋อซูเกาฮวงซูจางเหมิน
- โรคระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย ปวดกระดูกต้นคอ ข้อไหล่ปวดไหล่สะบัก ปวดข้อศอก ตําแหน่งจุด จุดที่กดเจ็บ หรือ บริเวณข้อต่อต่าง ๆปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้นกบ ปวดสะโพก ตําแหน่งจุด ตามจุดที่ปวดต่าง ๆ หรือรอบ ๆ ข้อต่อต่าง ๆ ปวดเข่า ปวดข้อเท้า ปวดส้นเท้า ตําแหน่งจุด ตําแหน่งที่ปวด และรอบ ๆ ข้อต่อ
- โรคระบบประสาท ปวดหัวจากระบบประสาท ตําแหน่งจุด จางเหมิน ซีเหมิน และบริเวณปวดชายโครง ปวดเส้นประสาทไซแอทิค ตําแหน่งจุด จื้อเบียน หวนเทียว เว่ยจง โรครูมาตอยด์ตําแหน่งจุด ต้าจุยเกาฮวงซูเซิ่นซูเฟิงซื่อ และบริเวณที่ปวดชา กล้ามเนื้อลําคอหดเกร็ง ตําแหน่งจุด เจียนจิ่ง ต้าจุย เจียนจงซูเซินจู้ กล้ามเนื้อหดน่องเกร็ง ตําแหน่งจุด เว่ยจงเฉิงซาน และบริเวณที่คนไข้หดเกร็ง เส้นประสาทใบหน้าหดเกร็ง ตําแหน่งจุด เซี่ยกวน ยิ้นกางเจี๋ยเชอ กระบังลมหดเกร็ง ตําแหน่งจุด เก๋อซูจิงเหมิน
- โรคสตรี ปวดท้องประจําเดือน ตําแหน่งจุด กวนหยวน จื่อกง ตกขาว ตําแหน่งจุด กวนหยวน จื่อกง ซานอินเจียว อุ้งเชิงกราน ตําแหน่งจุด จื้อเปียน เยาซูกวนหยวน
- โรคอายุรกรรมภายนอก ฝีหนอง ตําแหน่งจุด เซินจู้กับบริเวณฝี มีก้อนซีสอักเสบ ตําแหน่งจุด จื้อหยาง
สีจากการครอบแก้วบอกอะไรได้บ้าง ?
เมื่อทำการรักษาโดยการครอบแก้วเสร็จแล้ว ตรงบริเวณของผิวหนังที่โดนครอบแก้วจะเกิดเป็นรอยจ้ำสีม่วง ๆ ขึ้น ซึ่งความเข้มของรอยจ้ำดังกล่าว สามารถบอกได้ถึงลักษณะอาการปวดตรงบริเวณนั้น ๆ ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยยิ่งมีสีที่เข้มมากเท่าไร ก็แสดงได้ว่า บริเวณดังกล่าวมีอาการปวดมากเป็นพิเศษ (รอยจ้ำ ๆ ของผิวหนังบริเวณที่โดนครอบแก้ว จะเป็นรอยอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ แล้วจะจางหายไปเอง)
- สีชมพูอ่อน : สุขภาพแข็งแรงดี ระบบเลือดลงไหลเวียนปกติ
- สีแดง : ร่างกายมีความร้อนเล็กน้อย อ่อนล้าปานกลาง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- สีแดงสด : ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง รุนแรง เลือดลมติดขัด
- สีซีด : ลมปราณ และ เลือดอยู่ในระดับพร่องพลังในร่างกายน้อยลงกว่าปกติ
- สีคล้ำ : ลมปราณติดขัดจนเกิดเลือดคั่ง ความเย็นสะสม
- มีรอยจุดสีคล้ำ อยู่บริเวณที่ครอบแก้ว : ลมปราณติดขัดจนเกิดเลือดคั่ง ความเย็นสะสม
ปฏิบัติตัวอย่างไรหลังครอบแก้ว ?
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำสะอาดที่อุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเป็นเวลา 1 วัน เพราะการดื่มน้ำอุ่นจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกได้โดยง่าย
- งดอาบน้ำ หรือตากแอร์เย็นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หลังจากครอบแก้ว
- ควรพักผ่อนหลังจากครอบแก้ว เพราะการครอบแก้วอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการอ่อนเพลียได้
- อาการผิดปกติที่ควรโทรสอบถาม หรือมาพบแพทย์ เช่น มีอาการบวม แดง แสบร้อน มากผิดปกติ ปวดรุนแรงบริเวณจุดครอบแก้ว หรือมีไข้สูง
- โดยเฉลี่ยสามารถครอบแก้วได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หากผู้ป่วยมารับการรักษาต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำของแพทย์ จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
การรักษาโรคโดยการครอบแก้ว (Cupping) สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีการติดขัดทำให้เลือดและพลังมีการไหลเวียนที่ดีขึ้น สามารถรักษาอาการปวด โดยเฉพาะบริเวณ บ่า หลัง และเอว (เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะ หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน) และด้านการส่งเสริมความงามช่วยให้ผิวพรรณดูเปล่งปลั่ง มีเลือดฝาด หลังจากการทำครอบแก้วแล้ว บริเวณผิวหนังอาจมีรอยคล้ำ แต่ไม่มีอันตราย รอยจะหายเองในเวลาประมาณ 5–7 วันและสามารถทำได้อีกเมื่อรอยจางหายค่ะ