ปวดหู เกิดจากอะไร? สาเหตุและวิธีการรักษา
ปวดหู (Earache/Ear Pain)
เป็นอาการปวดบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาจปวดในลักษณะตื้อ ๆ เจ็บแปลบ หรือรู้สึกแสบร้อน ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ไม่นานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไป มักพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และปวดหูเกิดจากอะไรได้บ้าง มาไขข้อข้องใจไปกับบทความนี้กัน
อาการปวดหู?
อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู สิ่งที่สังเกตุเห็นคือผิวหนังของรูหูส่วนนอกจะบวมแดงเฉพาะที่ อาจเห็นเป็นหัวฝีหรือบวมทั้งหมด พบหนองที่มีกลิ่นเหม็นภายในหู เวลาเคลื่อนไหวใบหูจะมีอาการเจ็บมาก อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหรือหลังหู ในรายที่เป็นมากอาจทำให้ใบหูยื่นไปข้างหน้า กระดูกหูบวม แดง และกดเจ็บ หรือมีอาการอัมพาตของเส้นประสาทสมองบางเส้นได้
สาเหตุของอาการปวดหู เกิดจากอะไร?
สาเหตุจากหูชั้นนอก
- การติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการปวด, บวมแดงที่ใบหู ช่องหูชั้นนอกอักเสบ เกิดจากการแคะหูหรือปั่นหู น้ำเข้าหู อาการ ปวด บวมในช่องหู, มีหนองไหล (ในผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการรุนแรง, มีไข้สูง ต้องรีบปรึกษาแพทย์) การรักษา ยาปฏิชีวนะกินหรือฉีด, ยาหยอดหู
- การติดเชื้อไวรัส เช่น เริมที่ใบหู จะมีตุ่มน้ำที่หู และปวดแสบปวดร้อน
- การรักษา ให้ยากลุ่ม Acyclovia, สเตียรอยด์, ยาแก้ปวด
- การติดเชื้อรา จะมีอาการหูอื้อ มีน้ำไหล เเละมีอาการปวดหูได้ รักษาโดยการพบเเพทย์ทำความสะอาดช่องหูเเละใช้ยารักษาเชื้อรา
สาเหตุจากหูชั้นกลาง
- การอักเสบของหูชั้นกลาง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ซึ่งมักเกิดตามหลังไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ในเด็กเล็กมักใช้นิ้วมือแหย่หู ไม่ยอมให้จับหู มีไข้ และอาจมีหนองไหลจากหู ไม่ควรปล่อยให้เป็นหวัดยาวนาน รีบรักษาเมื่อมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก
- การรักษา ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้ปวด
- อาการปวดหูเนื่องจากการดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหู หูอื้อ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันของอากาศรอบตัวกับความดันในหู (Barotrauma)
- การป้องกัน เช่น อมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือให้ดูดขวดนมในเด็กทารกในขณะขึ้นเครื่องบิน รวมทั้งการเรียนรู้เทคนิคในการปรับความดันในหูขณะดำน้ำ
สาเหตุจากหูชั้นใน
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหูเวลาที่ได้ยินเสียงดัง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในหรือเส้นประสาทหูเสื่อม นอกจากนี้มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเสียงดังในหูหรือการได้ยินลดลง การรักษาแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก
สาเหตุของอาการปวดหูที่ไม่ได้มาจากโรคของหู แต่มาจากอวัยวะข้างเคียง เกิดจากการปวดร้าวมาตามเส้นประสาทที่มีการเชื่อมต่อกับบริเวณของหู เช่น
- ฟันผุ เหงือกอักเสบ
- ต่อมทอนซิล หรือคออักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
- โรคของข้อต่อกระดูกขากรรไกร
- เนื้องอกทางหู คอ จมูก
การรักษาอาการปวดหู ทำได้อย่างไรบ้าง?
- ทำความสะอาดรูหู โดยใช้สำลีพันปลายไม้ หรือพลาสติก เช็ดเบาๆด้วยความนุ่มนวล หรือใช้เครื่องดูดของเหลวดูดหนอง (โดยแพทย์)
- รับประทานยาต้านจุลชีพ เพื่อรักษาการติดเชื้อในช่องหูชั้นนอก ประมาณ 7-14 วัน (ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์)
- ถ้ารูหูส่วนนอกบวมมาก แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็กๆ ชุบยาสเตียรอยด์ช่วยลดบวม ใส่ไว้ใน รูหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลง จึงใช้ยาหยอดหูซึ่งมียาต้านจุลชีพ (ที่แพทย์สั่งให้) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง (อ่านวิธีหยอด ในบทความเรื่อง “ยาหยอดหู”)
- ถ้ามีอาการปวดมาก อาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ร่วมด้วยได้
- ในรายที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบชนิดร้ายแรง แพทย์อาจรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือด
การป้องกันอาการปวดหู ทำได้อย่างไรบ้าง?
- ไม่ควรพยายาม แคะ หรือเขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม
- ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ
- ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
- ผู้ป่วยที่ต้องเช็ดหู ทำความสะอาดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ เนื่องจากมีน้ำเข้าไปในช่องหูแล้วเกิดความรู้สึกรำคาญ ควรใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (ear plug) (ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ) ทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู จะได้ไม่ต้องเช็ดหูทุกครั้งหลังการอาบน้ำ
- เมื่อมีอาการคันหู ไม่ควรปั่นหู โดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์
อาการที่บ่งบอกว่าหูชั้นนอกอักเสบ คือ มีอาการคัน ระคายเคือง ปวดหู หูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู ถ้าหากมีอาการดังกล่าวต้องรักษาอาการปวดหูที่ถูกต้อง แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดหู และเมื่อมีอาการปวดหู ไม่ควรแคะหู ระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในรูหู และไม่ควรนำยาปฏิชีวนะ หรือยาที่ไม่ได้รับการแนะนำโดยแพทย์ หรือเภสัชกรนำไปทาในรูหูนะคะ
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกตา หู คอ จมูก
สถานที่
อาคาร A ชั้น G
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4011