หยุดตามใจปาก!…หากคุณเป็นโรคหัวใจ
ผู้ป่วยโรคหัวใจหลายท่าน คงรู้สึกกังวลอยู่ลึก ๆ เมื่อตรวจพบว่า ตนเองเป็นโรคหัวใจ และได้รับคำแนะนำมากมาย เรื่องการดูแลตนเองจากอายุรแพทย์โรคหัวใจ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องการกินอาหาร…ที่ต้องหยุดตามใจปาก เพราะต้องดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด …
ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องใส่ใจให้ความสำคัญ “เรื่องของการกินเพื่อดูแลตนเอง” เป็นอันดับแรก
แม้แต่คนที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ ยังต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า เข้าข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ หรือหากตรวจสุขภาพเบื้องต้นแล้ว และพบว่ามีไขมันในเลือดสูงก็ควรเริ่มควบคุมอาหาร และผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีไขมันสูงและเข้าข่ายว่าโคเลสเตอรอลในเลือดตามาแน่ๆ “การควบคุมอาหาร” จึงป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น การละ ลด เลิก อาหารประเภทไขมัน จะช่วยชะลอการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเอง ก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะตามมากับหัวใจได้
โรคหัวใจ… ห้ามกินอาหารประเภทอะไรบ้าง
1. อาหารเพิ่มไขมัน (LDL)
อาหารจำพวกเบเกอรี เช่น เค้ก คุกกี้ พาย โดนัท พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือ อาหาร (Fast Food) ล้วนเป็นอาหารที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง ทำอันตรายกับหัวใจโดยตรง
2. อาหารแปรรูปไขมันสูง
อาหารเนื้อสัตว์ปรุงกึ่งสำเร็จรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม กุนเชียง หมูยอ หากยิ่งทานบ่อยๆหรือ ทอดกับน้ำมัน อาจจะทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ง่าย
3. อาหารที่มีไขมันสัตว์ในเมนูอาหาร
อาหารจานเดียว เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหน้าเนื้อหรือหมูที่แทรกไขมันมากรวมถึง หนังสัตว์ เครื่องในสัตว์
4. อาหารรสเค็ม และหวานจัด
- อาหารหมักดองหรือปรุงแต่งให้เค็ม เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักดอง กุ้งแห้ง กะปิ ไข่เค็ม ไชโป้วเค็ม เพราะมีส่วนผสมของโซเดียมสูง (Sodium) และมีส่วนประกอบของผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ หรือซอส เพื่อใช้ในการถนอมอาหาร ความเค็มจะยิ่งมีมาก เพื่อให้สามารถเก็บอาหารได้นานยิ่งขึ้น
- อาหารรสหวานจัด เช่น กลุ่มเบเกอรี ขนมปัง ที่มีส่วนประกอบของแป้ง นม เนย น้ำตาล ขนมหวานต่างๆ และน้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่คั้นแล้วใส่น้ำตาล ผู้ป่วยควรเลี่ยงเป็นน้ำผลไม่คั้นสด หรือคั้นพร้อมกากแทน
ส่วนผลไม้ก็เลือกรับประทานเป็นเป็นผลไม้รสจืดหรืออมเปรี้ยว ให้วิตามินสูง เช่น แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร มันแกว หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย น้อยหน่า องุ่น ฯลฯ
5. อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรระมัดระวังเรื่อง การใช้น้ำมันประกอบอาหาร ควรใช้ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ประกอบการทำอาหาร และไม่ควรใช้น้ำมันใน ปริมาณเย่อะหรือรับประทานบ่อย เช่น อาหารที่ผ่านการทอด ควรเลี่ยงเป็นอาหารที่ต้มหรือนึ่งมากกว่า หากต้องรับประทานอาหาร ที่ผ่านการทอดให้ใช้น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันคาโนล่าทดแทน เนื่องจากมีจำนวนของไขมันดี (HDL) และรับประทานแล้วเกิดโทษต่อร่างกายและส่งผลต่อหัวใจน้อย
6. อาหารทะเล อาหารทะเลบางชนิด
เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม ยิ่งจะทำให้ปริมาณทั้งไขมันและคอเลสเตอรอลสูงยิ่งขึ้น เป็นไปได้จึงควรงดหลีกเลี่ยง หรือรับประทานแต่น้อย
7. งดดื่มแอลกอฮอล์
หากผู้ป่วยโรคหัวใจบริโภคเข้าไป จะเป็นโทษต่อร่างกาย และทำให้เกิดผลกระทบต่อหัวใจและเส้นเลือดหัวใจ
8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ น้ำอัดลม
เนื่องจากมีสารคาเฟอีน มีผลกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจสั่น ความดันโลหิตสูง หากต้องการบริโภคควรรับประทานแต่น้อยและปรึกษาแพทย์ โดยควบคุมการรับประทานของตนเองให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ทราบกันไปแล้วว่า…โรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องดูแลตัวเอง และระมัดระวังตัวในการเลือกรับประทานอาหารเป็นอย่างยิ่ง หากท่านไหนที่เริ่มสังเกตอาการตัวเองว่า เข้าข่ายอาการของโรคหัวใจ ก็ควรเริ่มปฏิบัติตัวในการทานอาหารตามคำแนะนำ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง โรคหัวใจดูแลได้…หัวใจคุณให้พรินซ์ช่วยดูแล