Header

ไข้มาลาเรีย: สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และรักษา

ไข้มาลาเรีย: สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และรักษา | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ยุงก้นปล่องตัวร้าย พาหะนำโรคไข้มาลาเรียที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายทุกปี มาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น และเรียนรู้วิธีการกำจัดยุงก้นปล่องเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัว

สาเหตุของโรคไข้มาลาเรีย

  • โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง
  • ปัจจุบันในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่คือ P.vivax ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่แสดงอาการรุนแรง แต่สามารถเป็น ๆ หาย ๆ จากเชื้อที่มีระยะหลบพักในตัว
  • เชื้อ Plasmodium ที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่
    • P.falciparum เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม หรือ พีเอฟ (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตายได้
    • P.vivax เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็น ๆ หาย ๆ
    • P.malariae  เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ หรือ พีเอ็ม (P.m.)
    • P.ovale เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล หรือ พีโอ (P.o.)
    • P. knowlesi เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ หรือ พีเค (P.k.)เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน
  • ยุงพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย

ยุงพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย คือยุงก้นปล่อง (anopheline) โดยเป็นตัวเมียที่นำโรค ยุงก้นปล่องสปีชีส์ที่พบว่านำโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. epiroticus, An. aconitus

 

แหล่งที่อยู่อาศัยยุง

  • ยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรียมีหลายสายพันธุ์ มีที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน
  • โดยทั่วไปยุงก้นปล่องอาศัยในท้องที่ป่าเขา สวนยางพารา และสวนผลไม้ที่ติดต่อกับท้องที่ป่าเขา แถบเชิงเขา ชายป่าที่มีการบุกเบิกทําการเกษตร ท้องที่ขุดพลอยในภาคตะวันออก

 

แหล่งเพาะพันธุ์ยุง

แหล่งเพาะพันธุ์ที่ยุงตัวเมียใช้วางไข่ เช่น ลําห้วย ลําธารในท้องที่ป่าเขาหรือเชิงเขา น้ำไหลและน้ำซึมน้ำซับ แหล่งน้ำขังที่มีร่มเงาในป่าเขา

 

การติดต่อของโรค

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด

 

วงจรชีวิตเชื้อมาลาเรีย

  • เชื้อมาลาเรียมีการเจริญเติบโตอยู่ 2 ระยะ คือ ในยุงก้นปล่อง และในคน
  • เริ่มจากที่ยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียระยะมีเพศ เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ตัวยุงและผสมพันธุ์กันเป็นตัวอ่อนฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวและเดินทางไปยังต่อมน้ำลายยุง เมื่อยุงกัดคนและปล่อยน้ำลายเพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวระหว่างการดูด ก็ปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าสู่กระแสเลือดคนเช่นกัน
  • ระยะในตับ เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคนก็ปล่อยเชื้อจากต่อมน้ำลายสู่กระแสเลือด และเข้าสู่     เซลล์ตับ มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระยะหนึ่งก็แตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่     กระแสเลือดและเม็ดเลือดแดง
  • ระยะในเม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อมาลาเรียแตกออกจากเซลล์ตับ เข้าสู่เม็ดเลือดแดงก็มีการแบ่งตัวเพิ่ม จํานวนมากขึ้น  จนถึงช่วงเม็ดเลือดแดงแตก เชื้อก็จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอื่น ๆ เพื่อหาอาหารเลี้ยงตัว มีการเจริญแบ่งตัววนเวียน ทั้งนี้เชื้อบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศทั้งเพศผู้เพศเมีย ระยะนี้ ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ระยะนี้ตรวจพบเชื้อมาลาเรียในเลือดได้
  • สําหรับเชื้อมาลาเรียไวแวกซ์นั้น บางส่วนหยุดพักการเจริญเติบโตชั่วคราว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งสามารถกลับมาเจริญเติบโตใหม่ได้ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดอาการไข้กลับ เป็นมาลาเรียซ้ำอีก

ไข้มาลาเรีย: สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และรักษา | โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

ระยะฟักตัวของโรค

  • เชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัม (P.falciparum) ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
  • เชื้อมาลาเรียไวแวกซ์ (P.vivax) และ เชื้อมาลาเรียโอวาเล่ (P.ovale) ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน
  • เชื้อมาลาเรียมาลาเรอิ (P.malariae) ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน

 

อาการของโรคไข้มาลาเรีย

  • โดยทั่วไปมีอาการนําคล้ายกับเป็นไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและ  กล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร
  • อาการต่าง ๆ อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด
  • อาการที่เด่นชัดของโรคไข้มาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะ คือ
    1. ระยะหนาว ซึ่งเป็นช่วงการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรีย ผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ปากและตัวสั่น ซีด ผิวหนังแห้งหยาบ กินเวลาประมาณ 15-60 นาที
    2. ระยะร้อน ผู้ป่วยมีไข้สูง อาจมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย ตัวร้อนจัด หน้าแดง หิวน้ำ
    3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยมีเหงื่อออกจนเปียกชุ่ม ร่างกายอ่อนเพลียและหายไข้ กลับเหมือนคนปกติ และจับไข้ใหม่ตามอาการในข้อ 1-3

 

ยารักษาโรคไข้มาลาเรีย

  • เมื่อตรวจเลือดแล้วพบเชื้อมาลาเรีย การรักษาด้วยยาต้านมาลาเรียโดยเร็วที่สุดจะช่วยให้เชื้อหมดไปจากกระแสเลือด ทั้งป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรง
  • ยารักษามาลาเรียต้องจ่ายตามชนิดเชื้อมาลาเรียเท่านั้น ผู้ป่วยต้องกินยาตามขนาด เวลาและจำนวนให้ครบถ้วน

 

ยารักษามาลาเรียชนิดฟัลชิปารัมหรือพีเอฟ

  • ผู้ป่วยที่พบเชื้อต้องกินยารักษาให้ครบ 3 วันติดต่อกัน จํานวนเม็ดยาขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยจะได้รับการนัดตรวจเลือดซ้ำ 4 ครั้ง ซึ่งต้องกลับไปตรวจตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อมาลาเรียในร่างกายแล้ว
  • ยา 1 ชุด สําหรับผู้ป่วยหนึ่งคนเท่านั้น ห้ามนํายารักษามาลาเรียไปให้ผู้อื่นกิน

 

ยารักษามาลาเรียชนิดไวแวกซ์หรือพีวี และชนิดโอวาเลหรือพีโอ

  • มียารักษา 2 ชนิด สีขาว (คลอโรควิน) และสีน้ำตาล (ไพรมาควิน) ผู้ป่วยที่พบเชื้อต้องกินยารักษาให้ครบ 14 วันติดต่อกัน
  • วันแรกให้กินยาหลังอาหาร 3 มื้อ ห่างกันครั้งละ 4-6 ชั่วโมง
  • วันที่ 2 ให้กินยาเม็ดสีขาวและเม็ดสีน้ำตาลพร้อมกันหลังอาหารเช้าครั้งเดียว
  • วันที่ 3 ให้กินยาเม็ดสีขาวและเม็ดสีน้ำตาลพร้อมกันหลังอาหารเช้าครั้งเดียว
  • วันที่ 4 ถึงวันที่ 14 ให้กินยาเม็ดสีน้ำตาลตามที่กําหนดหลังอาหารเช้าทุกวันจนครบ
  • จํานวนเม็ดยาในแต่ละมื้อและแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยดังแสดงตามรูปที่ 12 ถึงรูปที่ 14
  • หากผู้ป่วยมีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD) หรือเคยมีปัสสาวะสีโค้ก สีชา ให้แจ้งต่อแพทย์หรือเจ้าหน้าที่

 

ยารักษามาลาเรียชนิดมาลาเรอีหรือพีเอ็ม และโนเลซีหรือพีเค

  • ใช้ยารักษาคือคลอโรควิน 3 วัน

 

อาการข้างเคียงจากการกินยารักษาโรคไข้มาลาเรีย

  • ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะอาจมีสีเข้มขึ้น
  • แก้ไขโดยกินยาหลังอาหารทันที หรือกินอาหารก่อนแล้ว จึงกินยาตามทันที
  • อาการเหล่านี้จะดีขึ้น ภายใน 2-3 วัน
  • ให้ผู้ป่วยสังเกตสีปัสสาวะ หากสีเข้มมากขึ้น คล้ายสีชาหรือสีโค้ก ให้หยุดกินยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

 

การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย

  • โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้
  • ต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ย่ำค่ำจนรุ่งสาง
  • วิธีป้องกันยุงกัดที่รู้จักกันแพร่หลายคือ การนอนในมุ้งทุกคืน หากเป็นมุ้งชุบน้ำยาก็ช่วยไล่ยุงได้
  • วิธีอื่น ๆ เช่น ทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า
  • ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • นอนในบ้านหรือกระท่อมที่ได้รับการพ่นสารเคมีติดข้างฝา
  • หากค้างคืนในป่าเขา ไร่นา ต้องรู้จักป้องกันตนเอง เช่น นอนในมุ้ง หรือหากใช้เปลนอน ก็ให้หามุ้งคลุมเปลพร้อมทั้งใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด และทายากันยุง

 

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"

คลิก เพื่อขอคำปรึกษา



แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์