“โลก 2 ใบ” ที่ผู้ป่วยเบาหวานเลือกได้
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ร่วมกับการใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง หรือไม่เคลื่อนไหวออกกำลังกาย ความจริงแล้วผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมดูแลน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปกติเพื่อชะลอหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคและการใช้ชีวิตของตนเอง การที่ผู้ป่วยปล่อยปละละเลยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลอยสูงอยู่ตลอดเป็นเวลานาน โดยไม่ควบคุมอาหารร่วมกับออกกำลังกายอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ แถมยังสูบบุหรี่ดื่มสุราด้วยแล้วก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย จนเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ในที่สุด
โลกของผู้เป็นเบาหวานที่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ยังคงมีอาการของโรคเบาหวาน
- เนื้อเยื่อไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลอยสูง แล้วถูกขับออกทางปัสสาวะพร้อมกับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำบ่อยเพราะสูญเสียน้ำไปกับปัสสาวะ
- อ่อนเพลียจากการสูญเสียเกลือแร่ไปในปัสสาวะ
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อยๆ ตลอดทั้งคืน
มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน
- หมดสติจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ขาดน้ำและเกลือแร่ ทำให้เลือดหนืดข้น ความดันโลหิตต่ำ
- มีโอกาสติดเชื้อในระบบต่างๆ ได้ง่ายและอาจรุนแรงเพราะระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากการมีน้ำตาลลอยสูงในเลือดอยู่ตลอดเวลา
เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั้งเล็กและใหญ่ ทั่วร่างกาย
- ระดับน้ำตาลในเลือดที่ลอยสูงอยู่ตลอดเวลา จะไปเคลือบผนังเซลล์และหลอดเลือดให้หนาและแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น และตีบตันในที่สุด ส่งผลให้เกิดการเสื่อมถอยในการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยใช้เวลานานนับสิบปี กว่าจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น กลายเป็นภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียคุณภาพชีวิต และ/หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังกับอวัยวะสำคัญต่างๆ ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต
- ตามัวจากการเสื่อมถอย (ขุ่น) ของเลนซ์ตา
- มองเห็นผิดปกติจากการเสื่อมถอยของจอตา
- มือเท้าชาจากการหนาตัว/อุดตันของเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงปลายประสาท ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรัง
- แผลติดเชื้อที่เท้าซึ่งรักษาหายยาก จนเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้ต้องสละเท้าเพื่อรักษาชีวิต
- ไตวายเรื้อรัง ใช้เวลานานในการดำเนินโรคเบื้องต้น และลุกลามเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วในระยะท้าย จนไม่อาจหลีกหนีการล้างไตในที่สุด
- หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (50% ของผู้ป่วยเสียชีวิตโดยเฉียบพลันจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ)
- หลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน เกิดอาการทางสมองที่เรียกว่า Stroke
โลกของผู้เป็นเบาหวานที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
สร้างนิสัยออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที/วัน
- เพิ่มการเผาผลาญสารอาหาร (น้ำตาลและไขมัน) ที่เก็บสะสมเป็นส่วนเกินในร่างกาย
- เพิ่มการสูบฉีดไหลเวียนโลหิต ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และเมื่อร่วมกับการควบคุมอาหารจะลดความเสี่ยงในการอุดตันของหลอดเลือด
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการพาเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานไปใช้ในการเคลื่อนไหวระหว่างการออกกำลังกาย
- ช่วยลดความเครียดและผ่อนคลาย มีสติและปัญญาในการควบคุมพฤติกรรมบริโภคของตนเอง
ลดปริมาณอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล
- เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงใกล้เคียงปกติ
- ช่วยควบคุมน้ำหนักมิให้มีน้ำตาลเหลือใช้ไปสะสมเป็นไขมันเพื่อ ลดความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง
เพิ่มกากใยในทุกมื้ออาหารที่รับประทาน
- การเพิ่มกากใย เช่น ผักหลากหลายสีสันในอาหาร เพื่อชะลอการดูดซึมของน้ำตาลจากอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงขึ้นเร็วจนเกินไป
- กากใยอาหารจะช่วยดูดซับไขมันบางส่วนในอาหารที่รับประทาน และลดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- ช่วยการขับถ่ายอุจจาระ แก้ปัญหาท้องผูก
ลดการรับประทานอาหารรสจัด และหวาน มัน เค็ม
- ช่วยควบคุมหรือลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงโรคอ้วนและโรคไต
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- เพื่อช่วยระบบไหลเวียนโลหิตและการขับของเสียออกจากร่างกาย
- ช่วยลดปัญหาท้องผูกและความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นภาวะเครียดอย่างหนึ่งของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้
เลิกสูบบุหรี่
- ปอดทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงในการอักเสบติดเชื้อของทางเดินหายใจ
- ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดลมอักเสบอุดกั้นเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง
- การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
เลิกดื่มแอลกอฮอล์
- ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับและโรคตับแข็ง
- ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
เพราะการรักษาโรคเบาหวานนั้น แพทย์เป็นเพียงผู้แนะนำ ส่วนผู้ป่วยจะต้องเลือกเองว่าจะ “ใช้ชีวิตอยู่กับโรค/โลกของเบาหวานจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต” หรือว่าจะเริ่ม “พิชิตโรคเบาหวาน” ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง “โรคเบาหวานควบคุมได้และอาจหายได้ด้วยความตั้งใจและความมีวินัยของตัวท่านเอง” ภายใต้คำแนะนำที่ปฏิบัติได้ด้วยตัวท่านเอง