หลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก หนึ่งในนั้นคงมี “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ติดโผมาด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนี้จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของประชากรไทยเลยทีเดียว
หลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ !
หากพูดถึงสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก หนึ่งในนั้นคงมี “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ติดโผมาด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2562 พบว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนี้จัดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของประชากรไทยเลยทีเดียว โดยแท้จริงแล้วนั้นสาเหตุเกือบทั้งหมดของโรคนี้นั้นเกิดมาจากการที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดหัวใจตีบนั่นเอง
เราได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก นายแพทย์ลิขิต กำธรวิจิตรกุล แพทย์อายุรศาสตร์หัวใจ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เกี่ยวกับ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” ความน่ากลัวของโรคนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ในบทความนี้มีคำตอบ
หลอดเลือดหัวใจตีบคืออะไร ?
โดยทั่วไปแล้วหลอดเลือดแดงหลักที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจของเรานั้นมีทั้งหมด 3 เส้น เรียกว่า “หลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary Artery)” การที่หลอดเลือดแดงโคโรนารีนี้จะเกิดการตีบหรือตัน จะมีอยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด และเกิดการอักเสบในเวลาต่อมา ทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดเลือดเล็กลง สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง
ในระยะแรกผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว ร่างกายจะพยายามปรับตัว โดยขยายขนาดหลอดเลือดเพื่อชดเชยการตีบที่เกิดขึ้น แต่ในระยะยาว หลอดเลือดหัวใจจะไม่สามารถขยายตัวมากไปกว่านี้ได้อีกแล้ว ทำให้เมื่อผู้ป่วยออกแรง หรือทำงานหนัก จึงเริ่มเกิดอาการผิดปกติ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเกิดจากตระกรันไขมันเกิดการปริแตก
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดโคโรนารี จึงเกิดการเกาะตัวของเกร็ดเลือดในหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว จนอุดตันในหลอดเลือดที่จะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตกระทันหันได้ โดยในผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้นไม่จำเป็นต้องมีอาการนำมาก่อนเลยก็เป็นได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ภาวะเจ็บเค้นอกคงที่ (Stable Angina) มักมีอาการเมื่อออกแรง หรือออกกำลัง แต่อาการมักจะหายไปเมื่อมีการหยุดพัก ลักษณะอาการเจ็บเค้นที่หน้าอก แน่นเหมือนมีสิ่งของมาทับ บางรายอาจมีอาการร้าวไปที่แขน ขากรรไกร หรือลงมาที่ตำแหน่งท้องเหนือสะดือได้บางรายอาจมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเมื่อทำกิจวัตร เช่น เดินได้ระยะทางลดลง เดินขึ้นบันไดได้ลดลง เป็นต้น
- ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) มักมีอาการที่รุนแรง เจ็บแน่นมากกว่า อาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นนานมากกว่า 20 นาที อาการไม่หายไปเมื่อนั่งหรือหยุดพัก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการใจสั่น หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ หน้ามืด หมดสติ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ความเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คือ กรรมพันธุ์โรคหัวใจขาดเลือดในญาติสายตรง ได้แก่ บิดา มารดา พี่ น้องเพศ โดยเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงอายุที่มากขึ้น
- ความเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ที่พบได้ทั่วไป คือ
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- ภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้า
- การออกกำลังกายน้อย
- น้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ หรือโรคอ้วน
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในคนกลุ่มนี้ควรพบแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบโดยละเอียด ซึ่งการตรวจสามารถทำได้หลายวิธี โดยที่นิยมและแม่นยำ ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test : EST) ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (Coronary CT Angiogram)
- ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เริ่มต้นโดยให้ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยตนเองก่อน หากมีความเสี่ยงดังข้างต้น สามารถตรวจหาได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการด้วยการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test : EST) และวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ (Coronary CT Angiogram)
โรคหลอดเลือดหัวใจถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย ดังนั้นอย่าชะล่าใจ หากสงสัยว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา ตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที
เพราะหัวใจที่แข็งแรงคือจุดเริ่มต้นของการห่างไกลโรคหัวใจ
โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทยเนื่องจากคนมีพฤติกรรมเสี่ยงกันมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะอาการบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับหลายโรค ควรมาตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เริ่มดูแลหัวใจตั้งแต่วันนี้เพื่อคุณ…และคนที่คุณรัก
ควรระวังและดูแลสุขภาพอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ รวมถึงการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดความเครียด และควบคุมปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำหนัก และความดันโลหิต และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์เพื่อรักษาสุขภาพหัวใจให้ดีที่สุด
หากคุณหรือบุคคลในครอบครัวของคุณมีอาการเสี่ยงหรือเป็นโรคหัวใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมเพื่อรับการรักษา และการประเมินสุขภาพของหัวใจอย่างถูกวิธี หากท่านไหนที่เริ่มสังเกตอาการตัวเองว่า เข้าข่ายอาการของโรคหัวใจ ก็ควรเริ่มปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง โรคหัวใจดูแลได้…หัวใจคุณให้พรินซ์ช่วยดูแล
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (บางนา กม 6.5)
#หัวใจคุณให้พริ้นซ์ช่วยดูเเล
"หากมีคำถาม หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง"
คลิก เพื่อขอคำปรึกษา