ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ความหวังใหม่กระจายวัคซีนทั่วถึง ยับยั้งการระบาด ใช้ยาน้อย ภูมิสูงใกล้เคียงฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ในสถานการณ์ที่วัคซีนยังแพร่กระจายไม่ทั่วถึง การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนังจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกยกมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วันนี้ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาสรุปให้ทุกคนเข้าใจง่าย ๆ กันค่ะ
3 วิธีการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่าวิธีการฉีดวัคซีนโดยทั่วไปแล้วนั้นมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) เช่น วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า
- ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal Injection: ID) เช่น วัคซีน BCG วัคซีนพิษสุนัขบ้า
- ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Injection : SC) เช่น วัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบ
ย้อนอดีตต้นกำเนิดการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง
เมื่อย้อนกลับไปในปี 2530 ที่วัคซีนพิษสุนัขบ้าขาดแคลนอย่างหนัก ประเทศไทยได้ใช้กลวิธีฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนังแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ลงไปได้เยอะ จากปกติที่ใช้ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี ก็เหลือเพียง 0.1 ซีซีเท่านั้น ทั้งนี้โดยกำหนดให้มีความแรงของวัคซีนที่ชัดเจนและนำไปสู่การใช้ในประเทศไทยในปี 2531 และนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลก จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ทั่วโลกในปี 2534 ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว
สรุปประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง
หากพูดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทางด้านศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นชอบการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส สูตร S-S-A ด้วยวิธีฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เป็นอีกทางเลือก (ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งกรมควบคุมโรคแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) เพราะจากผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของค่าภูมิคุ้มกันหลังฉีด 2 สัปดาห์ นั้นสูงถึง 17,662.3 AU/ml เลยทีเดียว และปฏิกิริยาทั่วร่างกายที่เกิดขึ้นก็น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 30 คน โดยทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ทดสอบการฉีด Moderna Vaccine ใหม่ โดยแทนที่จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection: IM) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal Injection: ID) 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์แทน จากนั้นได้ทำการวัดระดับแอนติบอดี้ เมื่อฉีดครบ 2 สัปดาห์แล้ว พบว่าระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างกันเลย
รวมไปถึงเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้กล่าวถึงผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งเป็นการวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดสให้กับอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มมาแล้ว 4 – 8 สัปดาห์ และ 8 – 12 สัปดาห์ ซึ่งเปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หลังจากนั้น 14 วัน ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจผลข้างเคียงและการเกิดภูมิคุ้มกัน พบว่า
- เกิดอาการเฉพาะที่หรือจุดที่ฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น อาการปวด บวม แดง คลำแล้วเป็นไต
- อาการทั่วไปของร่างกายที่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่น ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น้อยลง เมื่อเทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
- การตอบสนองภูมิคุ้มกัน สำหรับส่วนของภูมิทั่วไป พบว่าหากฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในภาพรวมจะมีภูมิขึ้นมาประมาณหนึ่ง แต่หากฉีดกระตุ้นไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือชั้นผิวหนัง และไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย พบว่าเกิดภูมิเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน ขณะที่การยับยั้งโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา พบว่า หากฉีด 2 แบบเปรียบเทียบกัน ได้ผลไม่แตกแต่งกันมาก ดังนั้นยืนยันว่าการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังสามารถจัดการสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน
อ้างอิง: ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ย. 64)
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล