ภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหัก ภาวะแทรกซ้อนเมื่อกระดูกพรุนหรือหลังลื่นล้ม
ภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหักคืออะไร?
ภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหักคืออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นภายในเยื่อหุ้มข้อ อันเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ หรือการได้รับอุบัติเหตุบริเวณสะโพก เช่น การลื่นล้ม อุบัติเหตุจราจร และการตกจากที่สูง เป็นต้น ซึ่งกระดูกที่หักจะเคลื่อนที่ไปรบกวนเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณหัวกระดูกต้นขา ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวกระดูกตายจากการขาดเลือด
อาการของภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหัก
- ปวดบริเวณขาหนีบ
- ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักข้างที่หักได้
- หากตรวจร่างกายมักพบว่าขาสั้นลงกว่าข้างปกติ และอยู่ในท่าหมุนออกด้านนอก
- ไม่สามารถหมุนหรือขยับสะโพกข้างที่บาดเจ็บได้
สาเหตุของภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหัก
- ในผู้สูงอายุ มักเกิดจากผู้สูงอายุมีภาวะกระดูกพรุนอยู่แล้ว และได้รับอุบัติเหตุบริเวณสะโพกมา เช่น ลื่นล้มสะโพกกระแทกพื้น
- ในผู้ป่วยอายุน้อย มักเกิดจากอุบัติเหตุชนิดรุนแรง เช่น อุบัติเหตุจราจร การตกจากที่สูง เป็นต้น
วิธีการวินิจฉัยภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหัก
- การซักประวัติโดยละเอียด ซึ่งจะพูดคุยถึงสาเหตุของการล้ม ประวัติเกี่ยวกับการปวดข้อสะโพก ภาวะโรคประจำตัวต่าง ๆ และระดับความสามารถในการเดินและใช้ชีวิตประจำวันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ
- การตรวจร่างกาย
- แพทย์จะกดบริเวณขาหนีบเพื่อหาจุดกดเจ็บ
- แพทย์จะเคาะส้นเท้าเพื่อดูว่ามีอาการเจ็บปวดหรือไม่
- แพทย์จะตรวจดูว่ารูปและความยาวของขาผิดปกติหรือไม่ เช่น อาจมีขาสั้นลงและบิด เป็นต้น
- ในบางราย แพทย์จะตรวจดูพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกว่าผิดไปจากปกติหรือไม่
- ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจเอกซเรย์สะโพกแบบมาตรฐาน ซึ่งสามารถวินิจฉัยภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหักได้ดี แต่กรณีที่เอกซเรย์แล้วไม่พบกระดูกหักชัดเจน แต่ยังสงสัยว่าอาจมีภาวะกระดูกหัก ก็ต้องส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
วิธีการรักษาภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหัก
- การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงไม่สามารถผ่าตัดได้ และผู้ป่วยที่ไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนเองตั้งแต่ก่อนกระดูกหัก
- การรักษาโดยการผ่าตัด
- การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะ
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีการดูแลตนเองและการป้องกัน
เนื่องจากผู้ป่วยภาวะคอกระดูกต้นขาบริเวณสะโพกหักจำนวนหนึ่งมักวูบหมดสติล้มลงโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ล้มสะโพกกระแทกพื้น อาการเหล่านี้บ่งบอกถึงการทำงานผิดปกติของหัวใจหรือเส้นเลือด สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเกิดอาการวูบ มีดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำต่อวันให้เพียงพอ ซึ่งสามารถคำนวณโดยใช้สูตร น้ำหนัก x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรดื่มต่อวัน (มล.)
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี