ดูแลร่างกายรับหน้าร้อน ของวัยเก๋า
ฤดูร้อนวนมาอีกครั้ง ทั้งสร้างสีสัน บรรยากาศการไปเที่ยวทะเล และวันพักผ่อนชิล ๆ แต่ก็แฝงด้วยความร้อนระอุกับร่างกาย ถ้าอากาศร้อนมาก ๆ โรคต่างๆอาจจะตามมาได้
แต่สำหรับ “ผู้สูงอายุ” ก็ต้องเพิ่มการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัว หรือมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ควรต้องระวังกันนะคะ สำหรับบทความนี้ เราคัดสรร เคล็ดลับการดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ … เมื่อฤดูร้อนมาเยือน วัยเก๋าต้องดูแลตัวเองอย่างไร … มาฝากกัน
“คนสูงวัย” กับการดูแลร่างกายรับหน้าร้อน
- ป้องกันตัวเองจากความร้อน ก่อนออกจากบ้าน คนสูงวัยควรเลือกสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เนื้อผ้าที่มีการระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วเย็นสบาย หรือปัจจุบันมีเสื้อที่มีลักษณะของ “UV PROTECTION” ที่ออกแบบให้เหมาะกับการป้องกันแสงแดด เมื่อต้องเดินทางสู่พื้นที่กลางแจ้งที่มีอุณหภูมิสูง เพราะหากเลือกเสื้อผ้าเนื้อหนาหรือไม่ซับเหงื่อ เนื้อผ้าจะยิ่งปิดกั้นไม่ให้อากาศถ่ายเท ผู้สวมจะรู้สึกร้อนและหงุดหงิด ผู้สูงอายุที่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ควรหาอุปกรณ์กันแดด เช่น สวมแว่นกันแดด หมวก ทาครีมกันแดด และพกร่ม เพื่อปกป้องแสง UV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง และป้องกันผิวหนังไหม้ ที่สำคัญไม่ควรอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน เพราะอากาศร้อนอาจจะทำให้เป็นลมได้ เมื่อเสร็จภารกิจก็ควรหาพื้นที่ร่ม เพื่อเปลี่ยนอิริยาบท
- ดื่มน้ำเปล่าอยู่เสมอ หากมีโปรแกรมต้องเดินทางไปไหน ผู้สูงอายุควรพกน้ำเปล่าติดตัวด้วยเสมอ น้ำเปล่า คือ น้ำดื่มที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในฤดูร้อน ที่มีการสูญเสียน้ำ จากการที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตรขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสีย ป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ หากจะรับประทานน้ำแข็งก็ควรใช้น้ำต้มสุกทำเอง หรือน้ำกรองเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและท้องเสีย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาด และย่อยง่าย โดยปกติผู้สูงอายุ มักรับประทานอาหารได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งในภาวะอากาศร้อนก็จะทำให้รับประทานอาหารได้ลดลง ดังนั้นควรเลือกปรุงอาหารที่มีไขมันน้อย รวมถึงอาหารเบา ๆ ย่อยง่าย รสไม่จัดมาก เพื่อป้องกันอาการปวดท้อง เน้นโปรตีนจาก เนื้อปลา ผัก ผลไม้ นอกจากจะช่วยให้ความสดชื่น เพิ่มกากใยและยังช่วยป้องกันปัญหาท้องผูกได้แต่เน้นเรื่องการล้างและทำความสะอาดก่อนรับประทาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ควรต้มให้สุก เพื่อฆ่าเชื้อโรคและพยาธิ ป้องกันอาการท้องเสียที่อาจจะติดเชื้อรุนแรงในหน้าร้อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้สูงอายุควรได้พักผ่อน ในห้องปรับอากาศที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ เพราะในฤดูร้อน จะมีช่วงกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน การได้งีบหลับในช่วงกลางวันประมาณ 10 - 15 นาที จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ส่วนช่วงกลางคืน ก็ควรการจัดท่าทางการนอนและการปรับระดับของเตียงในระดับความสูงที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการผลัดตกหกล้ม และนอนพักผ่อนให้เพียงพอหลับให้สนิท ห้องนอนควรอยู่ใกล้ห้องน้ำ เพื่อความสะดวกในการเข้าใช้งาน และระวังเรื่องแสงสว่างและพื้นที่เปียก - ออกกำลังกายเบา ๆ ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเบา ๆ ยิ่งหน้าร้อนเหงื่อออกง่าย การเดินแกว่งแขนภายในบริเวณบ้าน หรือทำงานบ้านเบา ๆ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ที่ประหยัดเวลาและการเดินทาง สถานที่ออกกำลังกายควรมีความปลอดภัย ป้องกันการชน หกล้ม และอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆด้วย
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากผู้สูงอายุดื่มแอลกอฮอล์ในฤดูร้อน จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย โดยเฉพาะหากดื่มในเวลากลางวัน ช่วงที่มีอุณหภูมิสูงอากาศร้อนอยู่แล้ว อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการช็อคได้ และแอลกอฮอล์ยังทำให้หลอดเลือดผิวหนังขยายตัว ขับน้ำออกจากร่างกายเร็วขึ้น ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว ยิ่งเมื่อมีอาการมึนเมาเผลอหลับไปอาจอันตรายถึงชีวิตได้ - จัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากอากาศร้อน และความอับชื้น สำหรับผู้ป่วยสูงวัยที่ติดเตียง และมีแผลกดทับ ควรระวังเรื่องความอับชื้น เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ ผู้สูงอายุ ไม่ควรที่จะเปิดพัดลมจ่อในหน้าร้อน เพราะการระบายอากาศจะไม่หมุนเวียน ทำให้มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ และเป็นไข้หรือเป็นหวัดได้ง่าย
- ไม่ควรอาบน้ำเย็นจัด และไม่ควรให้ตัวเปียกชื้น เพราะอาจทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอับชื้น และเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ทำให้ไม่สบายตัวได้
- รักษาสภาวะทางอารมณ์ในหน้าร้อน เมื่อเจออากาศที่ร้อนจัด หากผู้สูงอายุมีอารมณ์ที่ไม่คงที่ หรือมีโรคเกี่ยวกับด้านจิตเวช ภาวะทางอารมณ์จะยิ่งแปรปรวน จนหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เป็นปัจจัยให้เกิดอาการ ของอื่น ๆ โรคตามมาได้ การดูแลผู้สูงอายุจึงควรดูแลอย่างใจเย็น ใช้อารมณ์ดี สร้างบรรยากาศให้มีความสุข แจ่มใสอยู่เสมอ “เพราะจิตที่แจ่มใส ย่อมอยู่คู่กับร่างกายที่แข็งแรง”
- ปรับตัวให้เข้ากับอากาศร้อน เพราะอากาศร้อน น่าจะอยู่คู่กับประเทศไทย และคนไทยไปอีกนานเท่านาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก ที่ยิ่งแปรปรวน และอุณหภูมิของบ้านเราก็น่าจะทวีความร้อนสูงเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน และร้อนจัดมากๆเข้าสุขภาพร่างกายของคนสูงวัย มักจะมีปัญหาตามมา ดังนั้นการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี และหลีกหนีให้ห่างไกลโรคหน้าร้อน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งคนสูงวัย และครอบครัวต้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อความแข็งแรงและสุขภาพที่ดีในทุก ๆ ฤดูกาล
บทความโดย : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
หากคุณต้องการนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการปรึกษา
สามารถติดต่อสอบถามเราได้
Call Center 02-080-5999 หรือ LINE : @psuv
หรือ คลิกที่นี่เพื่อ Add Line ของเรา