ภาวะ Long COVID เจ็บ…แต่ไม่จบ ตามมาจากการติดเชื้อโควิด-19
เป็นโควิด-19 รักษาหายแล้ว แต่ทำไมยังป่วยอยู่ หลายคนมีข้อสงสัย เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วบางราย ยังรู้สึกมีอาการหลงเหลือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มที่มีอาการอาจจะมีอาการตั้แต่ 1 เดือน หรือมากกว่า 4 – 6 สัปดาห์ จะเป็นอาการที่เรียกว่า Post Covid Syndrome หรือ Long COVID คือ อาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 แล้วอาการเหล่านี้อันตรายหรือไม่ ? เรามาทำความเข้าใจกันกับบทความนี้กันนะคะ
Long COVID คืออะไร ?
การติดเชื้อโควิด-19 นับว่าเป็นโรคที่ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะว่าหลังจากรักษาหายแล้ว แต่หลายคนยังรู้สึกเหมือนยังไม่หายดี เพราะว่าระหว่างการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไปจับกับเซลล์โปรตีนของบางอวัยวะ ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลให้อวัยวะนั้นๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบไปทั่วร่างกาย เช่น อาการปอดบวม หรือ เนื้อปอดถูกทำลาย โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในรักษา และการกำจัดเชื้อโควิดในร่างกาย เราเรียกภาวะนี้ว่า “โควิดระยะยาว (Long COVID)” โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า สามารถพบได้ถึง 30 – 50% สาเหตุหลักมาจาก เครียดสะสม หรือเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ โรคแฝง หรือบางรายอาจติดเชื้อโควิดซ้ำแต่คนละสายพันธุ์
Long COVID อาการเป็นอย่างไร ?
- Long COVID เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน
- อาการที่พบบ่อยที่สุด มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลระยะยาวตั้งแต่หลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สมาธิสั้น ผมร่วง หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม การรับรสชาติและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอก หายใจถี่ ปวดตามข้อ ไอ ท้องร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะสมองล้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)
- สามารถพบอาการของ Long COVID ในผู้ป่วยนอก 35 % และผู้ป่วยใน 87% โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจยาวนานถึง 3 เดือนขึ้นไป
ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19
- เกิดขึ้นได้ในระยะ 1-2 เดือน มีตั้งแต่ อาการหอบเหนื่อย เพลีย พบพังผืดที่ปอด พบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อน เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ เช่น ตับอักเสบเฉียบพลัน การทำงานของไตบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน ปัญหาทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการนอนในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ภาวะซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์ อาจจะมีอาการแสบกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ระดับน้ำตาลไม่คงที่ และเบาหวาน
ใครคือกลุ่มเสี่ยง ?
- ผู้สูงอายุ เพศหญิงมากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก หรือผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ก็สามารถมีโอกาสเกิดอาการ Long COVID ได้ แต่จะไม่พบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีน
ป่วยเป็นโควิดหายแล้ว ต้องดูแลตนเองอย่างไร ?
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอมาก เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษา เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ่มเลือดในปอดอุดตัน
- ผู้ป่วยที่มีเชื้อลงปอด นอนโรงพยาบาลนาน ได้รับออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือพบโรคประจำตัวใหม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือยังฉีดไม่ครบตามกำหนด ควรรับการฉีดวัคซีนได้ภายใน 1-3 เดือน หลังจากหายป่วย
- ผู้ป่วยที่เพิ่งหาย ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายมากหรือเหนื่อยเกินไป ควรปรับให้เป็นการออกกำลังแบบเบาๆ เช่น เคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เพื่อให้ปอดทำงานไม่หนักจนเกินไปและร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวและปรับตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง
- ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย การฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม แนะนำตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของตับ ไต สารบ่งชี้การอักเสบต่างๆ เอกซเรย์ปอด เพื่อแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
อาการ Long Covid คืออาการที่เกิดจากการที่ร่างกายยังไม่สามารถฟื้นฟูตนเองได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงสูง ดังนั้น แม้ทำการรักษาจนออกจากสถานกักตัวแล้ว ก็ควรตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย และพบแพทย์เพื่อประเมินระดับสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพ และจิตใจที่ดีเหมือนเดิมกันนะคะ