ผ่าตัดหมอนรองกระดูก-ส่องกล้อง Endoscope Discectomy
30 มกราคม 2567
การผ่าตัดกระดูกสันหลัง
กระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนข้างลึกในร่างกาย หากต้องการทำการผ่าตัดที่บริเวณกระดูกสันหลังนั้น แพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อทำการรักษา ปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้การผ่าตัดอวัยวะที่อยู่ลึกสามารถทำได้อย่างสะดวก ชัดเจน ปลอดภัย และไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้คนไข้มีการรักษาที่ดี ฟื้นตัวและกลับบ้านได้ไวหลังผ่าตัด
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร
คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
-
อุบัติเหตุ
-
การยกของหนัก
-
ความเสื่อมสภาพของร่างกาย
โดยปกติหมอนรองกระดูกจะมีหน้าที่ช่วยรับน้ำหนักของร่างกาย ถ้ามีการได้รับบาดเจ็บและเคลื่อนออกมา ก็จะทำให้มีการกดทับเส้นประสาทได้ คนไข้ก็จะมีอาการปวดหลัง หรือปวดร้าวลงขาได้ ซึ่งการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกินยา การทำกายภาพเพื่อประคับประคองอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัด
เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้อง
การผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope Discectomy
คือการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง โดยนำกล้องขนาดเท่าปากกาใส่เข้าไปในตัวคนไข้ เพื่อนำเอาหมอนรองกระดูกสันหลังที่ปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทออก โดยการทำวิธีนี้ จะช่วยให้แผลจากการผ่ามีขนาดเล็กประมาณ 0.8 เซนติเมตร เนื่องจากแพทย์สามารถนำกล้องไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้โดยตรง โดยที่ตัดกล้ามเนื้อน้อยที่สุด ทำให้ลดการเสียเลือดและการติดเชื้อได้อีกด้วย
การผ่าตัดส่องกล้อง Microscope หรือกล้องจุลทรรศน์
คือการผ่าตัดด้วยการขยายใหญ่ ซึ่งตัวกล้องจะอยู่ภายนอกตัวคนไข้ เมื่อทำการผ่าตัดแบบ Microscop แพทย์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดแผลหรือตัดกล้ามเนื้อออก ประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร เพื่อให้เห็นกระดูกสันหลัง และใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อส่องซูมขยายเข้าไป เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้อาจจะทำให้เสียเลือดและเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope Discectomy
การผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope กับ Microscope ต่างกันอย่างไร
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยก็ได้รับการประเมินตรวจเช็คร่างกายก่อนว่าฟิต หรือแข็งแรงพอที่จะผ่าตัดไหม ซึ่งผู้ป่วยจะถูกประเมินโดยการ
-
เจาะเลือด
-
เอกซเรย์ปอด
-
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
-
เข้ารับการตรวจ และให้คำปรึกษาโดยวิสัญญีแพทย์ และอายุรแพทย์
การผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope อันตรายไหม?
การผ่าตัด Endoscop เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดไม่ได้ใหญ่มาก การทำลายเนื้อเยื้อที่ไม่ได้ทำให้เกิดโรค เกิดขึ้นน้อยมาก ๆ และกล้อง Endoscope เป็นกล้องที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง ทำให้มองเห็นตัวโรคที่ทำให้เกิดปัญหาของคนไข้ได้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้การผ่าตัดสามารถทำได้อย่างราบรื่น
การดูแลหลังผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน การที่หมอนจะปลิ้นออกมาได้ แปลว่าจะต้องมีรูอยู่ที่หมอนรองกระดูก เพื่อให้ไส้ข้างในสามารถปลิ้นออกมาได้ การผ่าตัดเราจะไปนำหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นมาเบียดเส้นประสาทออก และทำการจี้ไฟฟ้าปิดรูที่ตัวหมอนรองกระดูก แต่อย่างไรก็ตามรูนี้จะใช้เวลาเต็มที่ประมาณเดือนครึ่ง - สามเดือนในการที่จะปิดหลังจากผ่าตัด ดังนั้นในช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะสองสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เมื่อตัวรูยังไม่สมานเต็มที่ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ตัวหมอนรองกระดูกจะปริ้นออกมาเพิ่มได้ ดังนั้นาต้องมีการดูแลตนเองเพื่อไม่มีแรงดันที่หมอนรองกระดูกมากขึ้น
ท่าที่จะทำให้แรงดันที่หมอนรองกระดูกมากขึ้นก็ได้แก่
- การยกของหนัก
- การก้มหลังเยอะ ๆ
- การเบ่งแรง ๆ อย่างเช่น ถ้าท้องผูก มีการเข้าห้องน้ำ และเบ่งแรง ๆ หรือไอแรง ๆ หรือบิดตัว ก็จะทำให้เพิ่มแรงดันในกระดูกสันหลัง
หลังจากผ่านการผ่าตัดมาในระยะหนึ่งที่แผลเริ่มสมานกันแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อลำตัว ซึ่งจะช่วยพยุง ลดการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อกระดูกสันหลังได้
สาเหตุของอาการปวดสามารถเกิดได้จากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจากกระดูกสันหลัง จากข้อสะโพก หรือว่าสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ดีทึ่สุด คือ การรักษาให้ตรงจุด
หากมีคำถามและข้อสงสัยสามารถสอบถาม ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
บทความโดย : ผศ.นพ. ปิลันทน์ ใจปัญญา
หมอกระดูก ผู้ชำนาญการพิเศษด้านกระดูกสันหลัง