เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron)
เชื้อโอไมครอนคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างไร?
งานวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ถึง 50 ตำแหน่ง และมีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) จำนวน 32 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายและติดต่อได้เร็วขึ้น และยังทำให้ตัวไวรัสมีความสามารถที่จะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย
อาการเมื่อได้รับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเป็นอย่างไร?
หากได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะมีอาการเริ่มต้นที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้า โดยอาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ ไอ (54%) เจ็บคอ (37%) มีไข้ (29%) น้ำมูกไหล ปวดหัว เหนื่อยล้า และมีอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สังเกตได้ คือ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
เราสามารถตรวจหาเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างไร?
การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจชนิดเร่งด่วน (ATK) ไม่ได้รับผลกระทบจากการกลายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากการกลายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจุดเป้าหมาย Nucleocapsid Protein Target ของชุดตรวจ การตรวจด้วย RT-PCR สามารถตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างแม่นยำ เพราะแม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์หลายจุด แต่การตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถหาสารพันธุกรรมได้หลายจุดเช่นกัน โดยที่จุดที่ได้รับการตรวจนั้นไม่ได้กลายพันธุ์ทุกจุด
เคยป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว สามารถติดเชื้อโอไมครอนได้อีกหรือไม่?
ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่น สามารถป้องกันอาการรุนแรงของอาการข้างเคียงจากการติดเชื้อโอไมครอนได้ แต่มีประสิทธิภาพน้อยในการป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนอีกครั้ง โดยความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์โอไมครอนมีมากกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 5 เท่า
วัคซีนที่ให้บริการฉีดในไทย สามารถป้องกันโอไมครอนได้หรือไม่?
ได้ในบางกรณี การฉีดวัคซีนครบและตามด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยใช้วัคซีนแบบ mRNA สามารถสร้างภูมิที่แข็งแรงพอต่อการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน และการรับวัคซีนครบครบโดส (2 เข็ม) ไม่ว่าจะประเภทไหนสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากการได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้
ข้อควรปฏิบัติสำหรับกักตัวแยกที่บ้าน มีอะไรบ้าง?
- ห้ามออกจากที่พัก และห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน
- ห้ามเข้าใกล้ทุกคน หรือต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกไม่ได้ควรห่างจากผู้อื่นมากที่สุด และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- ห้ามรับประทานอาหารด้วยกัน
- ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากไม่ได้อยู่คนเดียว
- ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับของใช้ต่าง ๆ
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน
- ควรใช้ห้องน้ำแยก และแยกทิ้งขยะกับผู้อื่น
กรณีใดที่ผู้ป่วยรักษาแบบกักตัวแยกที่บ้าน ต้องส่งตัวเข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาล?
เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด น้อยกว่า 94% โรคประจําตัวมีอาการเปลี่ยนแปลง ในผู้ใหญ่ และมีอาการหายใจลําบาก แน่นหน้าอก ซึมลง ไม่ยอมดื่มน้ำจนไม่ปัสสาวะ ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง ในเด็ก
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดโอกาสรับ-กระจายเชื้อ?
- รับวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ
- รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
- ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือด้วยแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ
- เลี่ยงพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เปิดหน้าต่างเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิด
- สำรวจอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
- ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในข้อศอกหรือกระดาษชำระเมื่อไอหรือจาม
- ตรวจด้วยชุดตรวจชนิดเร่งด่วน Antigen Test Kit (ATK) ทันทีถ้ามีภาวะเสี่ยง หากผลเป็นบวก ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยด้วยการตรวจแบบ RT-PCR โดยเร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการรักษาและควบคุมโรคต่อไป
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย : นพ.พฤฒ พันธุ์พฤทธิ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์