โรคกรดไหลย้อน GERD
ความสำคัญก็คือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disorder) คือภาวะที่เกิดการไหลย้อนของกรด จากกระเพาะอาหาร ขึ้นมาสู่หลอดอาหาร ซึ่งถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัยเช่น การสูบบุหรี่, ดื่มสุรา, ความเครียด, การรับประทานอาหารไขมันสูง,ภาวะน้ำหนักตัวเกิน เป็นต้น
เมื่อมีอาการอย่างไรจึงควรสงสัยภาวะกรดไหลย้อน
ภาวะกรดไหลย้อนนั้นอาจมีอาการได้หลากหลายทั้งกลุ่มที่มีอาการเด่นทางหลอดอาหาร และ กลุ่มที่มีอาการนอกทางเดินอาหาร ได้แก่
- อาการแสบร้อนยอดอก (heartburn)
- อาการเรอเปรี้ยว(regurgitation)
- อาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ( non-cardiac chest pain) ทั้งนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ต้องทำการประเมินภาวะอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจร่วมด้วยเสมอ
- อาการไอเรื้อรัง,กล่องเสียงอักเสบ และฟันกร่อน เป็นต้น
กรดไหลย้อน ปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะกรดไหลย้อนนอกจะทำให้เกิดอาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตแล้ว ยังมีผลเสียที่มากกว่านั้น โดยเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารอีกด้วย
คำแนะนำในการดูแลเพื่อป้องกันและรักษาภาวะกรดไหลย้อน
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น การงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา,หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง3ชั่วโมงก่อนเข้านอน และพิจาณาการนอนยกหัวเตียงสูง, การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- การให้ยาเพื่อบรรเทาอาการและความรุนแรงของภาวะกรดไหลย้อน เช่น ยาต้านการหลั่งกรด (proton pump inhibitor), ยากลุ่มอัลจิเนต เป็นต้น
- อย่างไรก็ตามหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายหลังจากการรักษาข้างต้น หรือมีอาการอันตราย ได้แก่
- อาการกลืนเจ็บ หรือ กลืนติดกลืนลำบาก
- น้ำหนักลดเยอะ
- มีภาวะเลือดออกทางเดินอาหาร
- อาเจียนรุนแรงบ่อยครั้ง
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและพิจารณาการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscope,EGD) ซึ่งได้จะประโยชน์ ทั้งในการยึนยันการวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง และเฝ้าระวังผลแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะกรดไหลย้อนเช่นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
อ้างอิง แนวทางเวชปฎิบัตการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย พ.ศ.2563, สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (ไทย)