ร้อนจริงร้อนจัง ระวัง! โรคลมแดด (Heatstroke)
ร้อนจริงร้อนจัง…เมษามาถึง คงได้ยินเสียงหลายคนบ่นอุบว่า ทำไมอากาศบ้านเราช่างร้อนได้ขนาดนี้ ร้อนจัดมาก ๆ จนน่ากลัวว่า จะเป็น”ลมแดด”ได้ง่าย ๆ …มาค่ะ เราจะมาทำความรู้จักกับ ” โรคลมแดด (Heatstroke)” กัน
รู้จักโรคลมแดด
โรคลมแดด (Heatstroke) คือ การที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น จากการสัมผัสกับอากาศร้อนจัด อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมาก ๆ หรือการออกกำลังกายเวลานาน โดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ เมื่อร้อนจัดๆมาก ๆ ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญต่างๆหากผู้ป่วยมีอาการเป็นลมแดด ต้องได้รับการรักษาอย่างทันที การรักษาล่าช้ามีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เกิดอันตรายและเสียชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด อาการลมแดดเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูง และสามารถเป็นได้ในทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป (104 ฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่า
- เวียนศีรษะ มึน งง หน้ามืด สังเกตผิวหน้ามีอาการแดง
- หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะตุบ ๆ และหน้ามืด
- คลื่นไส้ อาเจียน ชัก เป็นตะคริว หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาจจะล้มวูบ เป็นลมหมดสติ ซึ่งหากเกิดขึ้นในผู้สูงวัย จะเป็นอันตรายมาก
ผู้ที่เป็นลมแดดเกิดจากสาเหตุ ?
- การออกกำลังกายหนัก หรือทำกิจกรรมใช้กำลังมาก เช่น ในสถานที่กลางแจ้ง โล่งเปิด พื้นที่ Outdoor อากาศร้อนจัด แดดแรง เหนื่อยจัดเกินไป
- การอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนปกติ เกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัยโรคลมแดด
- ผู้ป่วยเจอกับอุณหภูมิสูงเวลานาน มีบางรายอาจโรคประจำตัว และความผิดปกติทางระบบประสาทอยู่ ก็อาจจะมีอาการลมแดดได้ เช่น โรคเส้นเลือดสมอง (Multiple Sclerosis) หรือโรคลมชัก
- แพทย์จะซักประวัติ ผู้ป่วยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะลมแดด เช่น
- การตรวจร่างกาย พบอุณหภูมิกายสูง
- การสัมผัสกับความร้อน (Heat Exposure) หรือออกกำลังกายจัด ๆ
- อาการแสดงในระบบต่าง ๆ ผิดปกติ จากความร้อนที่ได้รับ
- ผลตรวจเลือดและเอกซเรย์ หาภาวะแทรกซ้อนของโรคลมแดด ซึ่งการ กระตุ้นในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันด้วย หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอยู่
การป้องกันโรคลมแดด
- เมื่อรู้ตัวว่าต้องอยู่ในที่อุณหภูมิสูง ควรสวมใส่เสื้อผ้า ระบายลมได้ง่าย หรือ ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อที่มี UV Cut เพื่อช่วยในการตัดแสงแดด
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบ เพราะเพิ่มการขับน้ำทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่มากขึ้น
- ป้องกันตัวเองจากแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดด และ อุปกรณ์ป้องกันแสง
- จิบน้ำเป็นระยะ หากร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เมื่อเหงื่อออกจะขับออกได้ปกติตามกลไกธรรมชาติ การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน จึงดีต่อสุขภาพ และช่วยป้องกันการเป็นลมอีกด้วย
- ในที่อากาศร้อนและถ่ายเทไม่สะดวก ควรเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือออกแรงหนัก ๆ
- อย่าทำงานที่ใช้กำลังมาก ในช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน ควรเลือกทำงานหนักตอนเช้าหรือตอนเย็น เมื่ออุณหภูมิเย็นลง จะได้ช่วยรักษาความร้อนสะสมในร่างกายให้ปกติ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแดดจัด และนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้กลางแดด เพราะแม้เปิดกระจกทิ้งไว้หรือจอดรถยนต์ในที่ร่ม อุณหภูมิในรถยนต์ก็สามารถร้อนจัดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การรักษาโรคลมแดด
- หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมแดด ควรพาผู้ป่วยเข้ามาในร่ม หรือที่อากาศเย็น เพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย
- ช่วยลดอุณหภูมิกาย ด้วยการถอดเสื้อผ้า และคลายเครื่องแต่งกายให้คลายออก เพื่อระบายความร้อนสะสม
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ เพื่อระบายความร้อน
- หายาดม หรือ แอมโมเนีย เพื่อให้คลายอาการวิงเวียน และหน้ามืดเป็นลม
- หากหมดสติ ควรช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นจากอาการเป็นลม และพักดูอาการให้ดีขึ้น จึงค่อย ๆ ใช้ชีวิตตามปกติ
- ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อส่งต่อการรักษาทันที
ลมแดด … อาจพบได้ในหน้าร้อน หรือ ในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย ทำงานหนัก ร่างกายปรับตัวไม่ทันฉับพลัน เมื่อรู้จักถึงตัวโรคแล้ว ก็จะได้ระมัดระวังตัวเองได้ดีขึ้น ร้อนนี้ …อย่าลืม! ดูแลรักษาตัวเองและคนใกล้ชิด ให้ห่างไกลจากลมแดดกันนะคะ