วิธีเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด - 1 ปี ที่พ่อแม่ต้องรู้
การเลี้ยงลูกโดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่เลี้ยงเด็กทารกเป็นครั้งแรก ถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขและความท้าทายไปพร้อม ๆ กัน เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดอาจเหมือนวัฏจักรที่วนเวียนอยู่แค่ ตื่น กินนม เปลี่ยนผ้าอ้อม นอน ฟังดูเหมือนจะง่ายแต่กลับเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หากแต่ความสุขที่ได้เฝ้ามองลูกน้อยเติบโตสมวัยและมีพัฒนาการที่น่ามหัศจรรย์อย่างใกล้ชิดอย่างคำกล่าวที่ว่า “ก้าวแรกคือก้าวที่สำคัญสำหรับลูกน้อย” ก็ถือว่ามีค่าอย่างมากสำหรับคุณพ่อคุณแม่
พัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด - 1 เดือน
ลูกจะมองเห็นวัตถุต่าง ๆ ได้ในระยะ 8 – 12 นิ้ว เป็นระยะที่พอดีกับตอนที่คุณแม่อุ้มให้นม มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ และจะเริ่มสนใจกับสิ่งที่ผ่านตาไปด้านข้าง แต่ยังไม่สามารถขยับแค่ดวงตาเพื่อมองด้านข้างได้ จะหันทั้งหัวเพื่อมองแทน อาจมองพ่อแม่แค่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ตอบสนองต่อเสียงพูด ทำเสียงในลำคอ ซึ่งในช่วงอายุนี้ ลูกจะชอบวัตถุที่มีสีสันสดใส โดดเด่น มากกว่าสีโทนพาสเทล
การกระตุ้นพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด – 1 เดือน
อุ้มลูกบ่อย ๆ คุยกับลูกใกล้ ๆ รวมถึงแสดงสีหน้า เช่น ยิ้ม แลบลิ้น อ้าปาก เพื่อให้ลูกทำตามและมองเห็นได้ชัด ช่วงแรกเกิดควรใช้ของเล่นเสริมพัฒนาการที่มีเฉดสีขาว ดำ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการที่ตรงกับวัยมากขึ้นพอลูกอายุ 1 เดือนแนะนำของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา เช่น สีแดง ส้ม ฟ้า เหลือง มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรีด้วยก็จะยิ่งดี ของเล่นที่จับบีบแล้วมีเสียงจะช่วยดึงดูดความสนใจและลูกจะเริ่มโฟกัสที่วัตถุตรงหน้า
พัฒนาการเด็กวัย 2 - 4 เดือน
เมื่อลูกอายุประมาณ 2 เดือน เด็กจะเริ่มยิ้มตอบ ยิ้มทักทาย แสดงท่าทางดีใจที่แม่อุ้ม ทำเสียงอืออา สนใจฟังเสียง และมองหาเสียง เริ่มชันคอในท่าคว่ำได้ หากมีวัตถุเคลื่อนไหวเขาจะเริ่มมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมา แม้ว่าดวงตาทั้งสองข้างจะยังทำงานไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ต้องกังวลไป พอเขาโตขึ้นพัฒนาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
เมื่อเข้าเดือนที่ 3 – 4 ลูกจะสามารถกวาดสายตาเพื่อจับวัตถุใดวัตถุหนึ่งจากภาพกว้างได้ เมื่อจับในท่าคว่ำจะเอาแขนยัน ชูคอตั้งขึ้น 90 องศาได้ อาจจะมีการขยับแขนตามการมองเห็นหรือใช้มือจับสิ่งนั้น นอกจากนี้ลูกอาจมีการหันหาเสียงหัวเราะ ส่งเสียงอ้อแอ้ตอบกลับในบางครั้งด้วย
การกระตุ้นพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด 2 – 4 เดือน
ให้เล่น สัมผัส และพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ให้เขาส่งเสียงโต้ตอบ ให้ลูกนอนเล่นบนเบาะในท่าคว่ำ ของเล่นเสริมพัฒนาการควรมีสีสันตัดกันห่างราว 1 ศอกให้ลูกมองตาม หรือของเล่นที่จับแล้วมีเสียง พร้อมกับพูดชื่อสีนั้นให้ลูกได้ยินไปด้วยจะช่วยเสริมพัฒนาการด้านสื่อสารและการจดจำ นอกจากนี้ยังควรเพิ่มการเคลื่อนย้ายของเล่นจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งเพื่อให้ลูกมองตามได้
พัฒนาการเด็กวัย 5 - 8 เดือน
ช่วงอายุ 5 – 8 เดือน ลูกจะเริ่มจำหน้าพ่อแม่ได้รับรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แม้จะเห็นเพียงบางส่วนก็ตาม เขาจะรับรู้ว่าวัตถุอยู่ห่างจากตัวเองมากแค่ไหน มองเห็นโลกแบบสามมิติ มองเห็นสีได้มากขึ้นและจดจำสิ่งต่าง ๆ แสดงอารมณ์ดีใจ ขัดใจ หันตามเสียงเรียก เริ่มทำเสียงพยางค์เดียวได้เช่น หม่ำ ป๊ะ เมื่อมีของตกลงพื้นสามารถมองตามได้ คว้าของมือเดียว สลับมือถือของได้ เริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย จะเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น และสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น อยากรู้อยากเห็น อยากจับของทุกอย่างเด็กวัยนี้จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น ลูกอาจมีอาการคันเหงือกและหยิบจับสิ่งของเข้าปากมากขึ้นกว่าเดิม
การกระตุ้นพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด 5 – 8 เดือน
เพิ่มการเรียกชื่อลูกจากทิศทางต่าง ๆ หรือบอกสิ่งที่กำลังจะทำกับลูก เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว และอุ้มลูกให้น้อยลงปล่อยให้หัดนั่งเองบนพื้นที่ปลอดภัยโดยมีพ่อแม่ดูแลอยู่ใกล้ ๆ หาของเล่นเสริมพัฒนาการที่เป็นสามมิติ มีแสงสีและเสียงเพลงมากระตุ้นการมองเห็นและการจดจำของลูก ที่สำคัญคือต้องเตรียมของเล่นที่เป็นยางกัดนิ่ม ๆ เอาไว้ให้ลูกกัดแก้คันเหงือกและช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของฟัน
พัฒนาการเด็กวัย 9 - 12 เดือน
ตอนอายุ 9 เดือน จะเริ่มรับรู้ถึงระยะทางความห่างได้เมื่อลูกพยายามจะยืนขึ้นทรงตัว และเมื่อเข้าอายุ 10 เดือน ก็จะเข้าใจถึงระยะความห่างพอที่จะหยิบจับสิ่งของบางอย่างขึ้นมาระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้มากขึ้น และฟังรู้ภาษา เข้าใจสีหน้า ท่าทาง ตอบสนองส่งเสียงเป็นคำ ๆ ได้ ชอบเล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อนอยู่ หยิบอาหารกินเองได้ ชี้นิ้ว และออกเสียงหลายพยางค์ได้ เช่น หม่ำ ๆ คลาน เกาะยืน และเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืนได้แล้ว
เมื่ออายุ 12 เดือน ลูกจะเข้าใจการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ มากขึ้น และเป็นวัยที่กำลังหัดคลานเพื่อพยายามเดิน มองวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว หยิบของเข้า-ออกจากกล่องได้ ที่สำคัญเด็กวัยนี้อาจมีการเลียนแบบท่าทางที่เห็น เช่น โบกมือ ไหว้ บ๊ายบาย ดื่มน้ำจากถ้วยได้ พูดคำที่มีความหมายได้ 1 คำ เข้าใจคำสั่งให้หยุด ชอบเอาของมาเคาะกัน ตั้งไข่หรือยืนเองได้ชั่วครู่
การกระตุ้นพัฒนาการลูกวัย 9 – 12 เดือน
เล่นกับลูก ปรบมือ ทำท่าทางต่าง ๆ บ่อยขึ้น ให้ลูกฝึกหยิบอาหารชิ้นเล็ก ๆ ทานเอง และเป็นตัวอย่างให้ลูกทำท่าทางเลียนแบบ เตรียมสถานที่โล่ง ปลอดภัยไว้สำหรับให้ลูกหัดคลาน ยืน หาของเล่นเสริมพัฒนาการที่มีรูปทรงชัดเจนจะช่วยกระตุ้นให้ลูกเข้าใจการหยิบจับมากขึ้น พูดคุยกับลูกว่าสิ่งที่กำลังเล่นอยู่คืออะไร พร้อมสอนคำศัพท์ต่าง ๆ ไปด้วย เนื่องจากเด็กวัยนี้จะฟังรู้ภาษามากขึ้นถ้าเสริมด้วยของเล่นเข้าไปจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการอย่างรอบด้าน
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกเด็ก 24 ชั่วโมง
สถานที่
อาคาร A ชั้น 2
เวลาทำการ
จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 -20.00
เบอร์ติดต่อ
02 080 5999 ต่อ 4401